คตินิยมและคติชนปักษ์ใต้ในวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้: กรณีศึกษาวันคารคำกาพย์

อาจารย์ธวัลรัตน์ พรหมวิเศษ

 

อาจารย์ประจำหลักสูตรสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

 

 

บทความเรื่อง “คตินิยมและคติชนปักษ์ใต้ในวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้: กรณีศึกษาวันคารคำกาพย์” มุ่งนำเสนอคตินิยมเกี่ยวกับขนบการประพันธ์ และคติการปกครองที่ปรากฏในวรรณกรรมเรื่อง “วันคารคำกาพย์” ควบคู่ไปกับการนำเสนอคติชนประเภทต่างๆ ของชาวภาคใต้ที่ปรากฏอยู่ในเนื้อเรื่อง การศึกษาครั้งนี้เป็นการรวบรวมเนื้อหาที่มีผู้กล่าวถึงเรื่อง“วันคารคำกาพย์”ในบริบทต่างๆ ประกอบกับการนำเสนอข้อค้นพบใหม่ โดยใช้แนวทางการวิเคราะห์ด้วยแนวคิดการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมและการศึกษาวรรณกรรมในแง่สหบท 

 

ผลการศึกษาพบว่าวรรณกรรมเรื่อง “วันคารคำกาพย์” มีคตินิยมในด้านขนบการประพันธ์ประกอบด้วย 1) การสร้างโครงเรื่องและอนุภาคที่สัมพันธ์กับวรรณกรรมท้องถิ่นอื่น และที่สัมพันธ์กับวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้อื่นๆ 2) การเปิดเรื่องด้วยการแนะนำตัวผู้เขียนและบทประณามพจน์ 3) การสืบขนบกลวิธีการดำเนินเรื่องด้วยบทเทพอุ้มสม บทอัศจรรย์หรือบทสมห้อง บทชมธรรมชาติ และบทชมความงามของสตรี 4) การใช้สำนวนโวหารและแนวคิดพ้องหรือล้อกับกับวรรณกรรมเรื่องอื่น 5) การใช้อารมณ์ขันสำแดงลักษณะเฉพาะของคนใต้ในด้านคตินิยมในด้านการปกครอง ได้แก่คติการปกครองแบบรัฐจักรวาลคติชนที่ปรากฏในเนื้อเรื่อง ประกอบด้วย คติชนประเภทภาษา คติชนประเภท คติความเชื่อ และคติชนประเภทอาหาร  คติชนประเภทภาษา ได้แก่ 1) การใช้ภาษาถิ่น 2) การใช้สำนวนโวหาร  คติชนประเภทคติความเชื่อ ได้แก่ 1) ความเชื่อด้านการเลือกคู่ และครองคู่ และ 2) ความเชื่อในเรื่องกรรม อุเบกขา และอำนาจวาสนา 3) ความเชื่อเรื่องวันและฤกษ์ยาม  และ 4) ความเชื่อเรื่องการทำนายฝัน คติชนประเภทอาหารได้แก่ 1) อาหารคาว 2) อาหารหวาน 3) อาหารจากธรรมชาติ และ 4) อาหารที่ผ่านการปรุงหรือถนอมอาหาร

 

คตินิยมและคติชนที่ปรากฏในวรรณกรรมเรื่อง “วันคารคำกาพย์” ได้ทำหน้าที่อธิบายสภาพสังคมและวัฒนธรรมของชาวภาคใต้ในยุคสมัยของผู้ประพันธ์ รวมทั้งได้อธิบายการดำรงอยู่ของวรรณกรรมท้องถิ่นที่มีส่วนสัมพันธ์กับวรรณกรรมท้องถิ่นอื่นอย่างเด่นชัด

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วรรณกรรมทักษิณศึกษา: อดีต ปัจจุบัน อนาคต" ระหว่างวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2560 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรุงเทพฯ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหลักสูตรสาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี)