คนอีสานคือใคร เรื่องที่นักวิจัยควรรู้

ศาสตราจารย์สุกัญญา สุจฉายา

 

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

ภาคอีสานของประเทศไทยมีประวัติความเป็นมายาวนานมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์  ร่องรอยอารยธรรมเดิมอยู่บริเวณตอนล่างของภาค คือ บริเวณแอ่งโคราชซึ่งประชากรส่วนใหญ่คือชาวพื้นเมืองดั้งเดิม กลุ่มวัฒนธรรมมอญ-เขมร ที่เรียกว่า เขมร กูย (ข่า/ส่วย) จากพุทธศตวรรษ 19 เป็นต้นมากลุ่มวัฒนธรรมไท-ลาวได้เข้ามาอยู่ในบริเวณแอ่งสกลนคร  แถบจังหวัดหนองคายและอุดรธานี และขยายเข้ามาอยู่ในแอ่งโคราชในพุทธศตวรรษที่ 23 ที่เมืองอุบลราชธานีและยโสธร บางส่วนเข้ามาตั้งหลักแหล่งบริเวณ ที่ราบเชิงเขาดงพระยากลางและเทือกเขาเพชรบูรณ์ 

 

การอพยพผู้คนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขงเข้ามาอยู่ในภาคอีสานเพราะผลจากสงครามตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา โดยเฉพาะหลังกบฏเจ้าอนุวงศ์ พ.ศ. 2370 ในสมัยรัชกาลที่ 3 ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายครั้งใหญ่ของกลุ่มวัฒนธรรมไท-ลาว กระจายไปทั่วภูมิภาค  ชนพื้นเมืองดั้งเดิมซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีวัฒนธรรมตัวเขียนก็มีการกระจายตัวไปอยู่ในที่ต่างๆเช่นกัน  หมู่บ้านที่อยู่ใกล้ชิดกับกลุ่มวัฒนธรรมไทลาวก็เปลี่ยนไปรับวัฒนธรรมลาว  ทั้งศาสนาและภาษาพูด  กลุ่มที่อยู่ใกล้ชิดกับวัฒนธรรมเขมรก็เปลี่ยนไปรับวัฒนธรรมเขมรทั้งศาสนาและภาษาเขมร  

 

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อแสดงให้เห็นว่านักคติชนที่ศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ต้องไม่ละเลยการอ่านงานประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะงานบันทึกทางประวัติศาสตร์สังคมในสมัยต่างๆ เช่น บันทึกการเดินทางของชาวต่างชาติ  วรรณกรรมนิราศ  ฯลฯ เพื่อจะได้ข้อมูลตามจริงกว่าภาพที่เห็นในปัจจุบันหรือจากการสัมภาษณ์บุคคลซึ่งมักจะตีความตามความเข้าใจของตนในปัจจุบัน  ในการอ่านเอกสารเหล่านี้นักคติชนต้องเข้าใจจุดยืนของผู้เขียนและอคติที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆด้วย

 

เอกสารที่ควรอ่าน ได้แก่ นิราศทัพเวียงจันทร์ (พ.ศ.2369) บันทึกภาพกลุ่มชนต่างๆตามรายทางไปทำศึกเวียงจันทร์ ในสมัยรัชกาลที่ 3  นิราศหนองคาย (พ.ศ.2418) และนิราศทัพหลวงพระบาง (พ.ศ.2428) บันทึกภาพกลุ่มชาติพันธุ์ในหลวงพระบาง สมัยรัชกาลที่ 5 ส่วนเล่มที่ควรอ่านอย่างยิ่ง คือ หนังสือชื่อ บันทึกการเดินทางในลาว ภาค 1 และ ภาค 2 (Voyage dans le Laos) ของเอเจียน แอมอนิเย ชาวฝรั่งเศสที่รัฐบาลฝรั่งเศสส่งเข้ามาสำรวจกัมพูชา ลาวและภาคอีสานในสมัยรัชกาลที่ 5

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "ความเชื่อ เรื่องเล่า ตำนาน กับชาติพันธุ์ในลุ่มน้ำโขง" ระหว่างวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ 2559 ณ หอประชุมมหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จังหวัดสกลนคร จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร)