ครามมีชีวิต: วัฒนธรรมผ้าย้อมครามของคนไทย-ลาว

อาจารย์ ดร.อุมารินทร์ ตุลารักษ์

 

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

 

ภาคอีสานของประเทศไทยและประเทศลาวเป็นพื้นที่ที่มีรากร่วมทางวัฒนธรรมเนื่องจากมีความสัมพันธ์ในเชิงประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต และการอพยพเคลื่อนย้ายของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ วัฒนธรรมสำคัญที่ทั้งสองประเทศมีร่วมกันคือผ้าทอพื้นเมืองที่เรียกว่า “ผ้าย้อมคราม”

 

ผ้าย้อมครามเป็นผ้าทอพื้นเมืองที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของคนกลุ่มไทในประเทศไทยและลาวมาเนิ่นนาน การทำผ้าฝ้ายย้อมคราม ทั้งการทอและการย้อมเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ต้องอาศัยฝีมือและความชำนิชำนาญของผู้ทำที่สืบเนื่องภูมิปัญญาที่มีมาตั้งแต่ในอดีต ผ้าย้อมครามจึงเป็นผ้าดั้งเดิมที่ใช้ในวิถีชีวิตประจำวันของคนอีสานและลาวที่ผูกพันกับวิถีการเกษตรแบบพึ่งพาธรรมชาติ เป็นส่วนหนึ่งของประเพณีพิธีกรรม เป็นสิ่งที่แสดงสถานะของบุคคลและสื่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคล ครามและผ้าย้อมครามถือเป็นยารักษาโรคของชาวบ้าน รวมทั้งผ้าย้อมครามยังเป็นผ้าพื้นเมืองที่เชื่อมโยงกับพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านภาวะของความเป็นผู้หญิงและความเป็นท้องถิ่นไทย-ลาวอีกด้วย

 

นอกจากนี้ความเชื่อเกี่ยวกับครามและลวดลายของผ้าย้อมครามยังสัมพันธ์กับวิถีชีวิตและความเชื่อของชาวบ้าน เป็นผ้าสามารถสะท้อนความสามารถและตัวตนของคนย้อม ดังนั้นการใช้ผ้าย้อมครามและภูมิปัญญาในการย้อมครามจึงเชื่อมโยงกับภูมิปัญญาของคนไทย-ลาวทุกยุคสมัย ไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านไปนานเพียงใดแต่ผ้าย้อมครามก็ยังมีส่วนในการตอกย้ำสำนึกทางชาติพันธุ์ นำเสนอความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมที่มีร่วมกัน และยังเป็นผ้าที่แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันผ้าย้อมครามไทย-ลาวได้กลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญเนื่องจากกระแสการส่งเสริมภูมิปัญญาตะวันออกในโลกธุรกิจการค้ายุคโลกาภิวัตน์

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "ผ้าทอในวิถีชีวิตไทย-ไท" ระหว่างวันที่ 20-21 มิถุนายน 2556 ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชาออคิด  จังหวัดขอนแก่น จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม)