ความหมายและภาพลักษณ์ของ“กินอ่หรา”ในมุมมองของคนใต้

รองศาสตราจารย์ ดร.พรพันธุ์ เขมคุณาศัย

 

อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

 

 

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความหมายและภาพลักษณ์ของ“กินอ่หรา”ในมุมมองของคนใต้การเก็บรวบรวมข้อมูลใช้วิธีการสัมภาษณ์เรื่องเล่า เพลงกล่อมเด็กที่ยังมีผู้ร้องได้อยู่ในท้องถิ่น และวรรณกรรมทักษิณ : วรรณกรรมคัดสรรของมหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี ผลการวิเคราะห์ พบว่า 1) คำที่ใช้เรียก“กินอ่หรา”มีหลายคำ คือ กินรีขี้หนอน ขี้หนอน พญาขี้หนอน นางขี้หนอน กีหนอน กินอน กินร กินหรา กินหรีกังหรี และกินอ่หรา ความหมายของคำเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในหลายบริบททั้งการเสี่ยงทายเพื่อดูโชคชะตาชีวิต เป็นพงศ์พันธุ์หนึ่งที่สะท้อนความลึกเร้นและยิ่งใหญ่ของป่าหิมพานต์และเขาวงกตเป็นหนึ่งในผู้มีอิทธิฤทธิ์ของพิธีกรรมขับไล่เสนียดจัญไรหรือปัดรังควาน นอกจากนี้ ยังเกี่ยวข้องเป็นคู่ครองอดีตชาติหนึ่งในห้าสิบเก้าชาติของพระพุทธเจ้า  2) ภาพลักษณ์ของ“ขี้หนอน”ในสายตาของคนใต้ มีหลายประการ คือ เป็นผู้หญิงที่มีความงดงามซึ่งคนใต้มักอ้างอิงถึงทั้งในเชิงเปรียบเทียบและผ่านบทรำโนรา เป็นผู้หญิงที่ได้รับการยกย่องว่ามีปัญญา เป็นผู้หญิงที่ครบสมบูรณ์และมีความดีงามเป็นคุณสมบัติประจำตัวที่ลูกหลานสายโนราได้ตั้งหิ้งบรรพบุรุษไว้บูชาสืบต่อกันมา และสะท้อนความเชื่อเกี่ยวกับการข้ามภพข้ามชาติของคนใต้ “กินอ่หรา” จึงยังคงมีบทบาทอยู่ในชีวิตประจำวันผ่านพิธีกรรมเกี่ยวกับหิ้งบรรพบุรุษ ผ่านความทรงจำจากเรื่องเล่า และเพลงกล่อมเด็ก

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วรรณกรรมทักษิณศึกษา: อดีต ปัจจุบัน อนาคต" ระหว่างวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2560 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรุงเทพฯ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหลักสูตรสาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี)