ความเชื่อร่วมในความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างราชอาณาจักรในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงก่อนสมัยใหม่

อาจารย์มิตต ทรัพย์ผุด

 

คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

 

 

ภูมิภาคลุ่มน้ำโขงก่อนการปรับรับวัฒนธรรมการเมืองตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้ดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทางด้านวัฒนธรรมที่มีลักษณะเฉพาะตน ประเด็นปัญหาคือ การดำเนินนโยบายการต่างประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงก่อนสมัยใหม่นั้นวางอยู่บนพื้นฐานความคิดอะไร และเกิดขึ้นจากแรงจูงใจใด และด้วยเหตุผลใดจึงเป็นแนวทางที่ยอมรับนับถือปฏิบัติอย่างกว้างขวาง บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเชื่อร่วมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมระหว่างราชอาณาจักรในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 9-19 โดยใช้ระเบียบวิธีการวิจัยทางด้านประวัติศาสตร์โลกทัศน์และความรู้สึกนึกคิด

 

ผลการวิจัยพบว่า ประการแรก ความเชื่อร่วมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมระหว่างราชอาณาจักรในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงก่อนสมัยใหม่สามารถจำแนกออกเป็น 3 ประเภทคือ ความเชื่อร่วมเกี่ยวกับการสถาปนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในใจกลางศูนย์กลางอำนาจ ความเชื่อร่วมเกี่ยวกับมหาบุรุษและการสืบเชื้อสาย และความเชื่อร่วมเกี่ยวกับราชอาณาจักรและพระบรมโพธิสมภาร ประการที่สอง ความเชื่อร่วมทั้งสามประเภทนี้เกิดจากสาเหตุ (1) พื้นฐานความคิดความเชื่อจากพุทธศาสนา (2) ประเพณีนิยมที่ผ่านมาจากวรรณคดีอินเดียและจีน (3) ความเชื่อดั้งเดิมก่อนการรับวัฒนธรรมภายนอกภูมิภาค สรุปได้ว่าความเชื่อร่วมในระดับภูมิภาคเกิดขึ้นจากวรรณกรรมของกลุ่มนักปราชญ์ราชครูในราชสำนัก วัฒนธรรมแบบราชอาณาจักรเป็นตัวอย่างของความเชื่อร่วมที่เกิดขึ้นจากวัฒนธรรมอินเดีย พื้นฐานภูมิปัญญาในการปรับรับวัฒนธรรมภายนอกเข้ากับวัฒนธรรมดั้งเดิม

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "ความเชื่อ เรื่องเล่า ตำนาน กับชาติพันธุ์ในลุ่มน้ำโขง" ระหว่างวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ 2559 ณ หอประชุมมหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จังหวัดสกลนคร จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร)