ความเชื่อ ศาสนาและพิธีกรรมในฮูปแต้มสินไซในภาคอีสาน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์

 

สำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

 

การศึกษานี้เป็นการศึกษาเกี่ยวกับรูปแบบทางความเชื่อ ศาสนาและพิธีกรรมที่ปรากฏในฮูปแต้มเรื่องสินไซ และบริบทความสัมพันธ์ของฮูปแต้มสินไซกับชุมชนภาคอีสาน  โดยเป็นการศึกษาผ่านฮูปแต้มสินไซบนผนังสิม(โบสถ์)ของวัดต่างๆที่ปรากฏในเขตพื้นที่ภาคอีสานของประเทศไทย 

 

ผลจากการศึกษาพบว่า ฮูปแต้มเรื่องสินไซพบมากในเขตพื้นที่อีสานตอนกลาง คือ ขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น มีวัดไชยศรี และสนวนวารีพัฒนารามเขียนเอาไว้ละเอียดที่สุด รูปแบบของแต่ละวัดมีการนำเสนออย่างอิสระภายใต้บริบททางสังคมวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมของแต่ละชุมชน   โดยสะท้อนรูปแบบความเชื่อ เรื่องโชคลาง กฎแห่งกรรม สิ่งเหนือธรรมชาติ รูปแบบพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับขนบประเพณีในวิถีชีวิตของชุมชนภาคอีสาน โดยสรุปภาพรวมของรูปแบบฮูปแต้มสินไซในภาคอีสานได้สะท้อนแก่นเนื้อหาที่สัมพันธ์กับคติทางพุทธศาสนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความศรัทธา โดยไม่ได้ยึดขนบ ด้านรูปแบบเป็นสำคัญ จึงเป็นเสน่ห์ที่ทำให้ฮูปแต้มอีสานมีอัตลักษณ์แตกต่างอย่างน่าสนใจ

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "ความเชื่อ เรื่องเล่า ตำนาน กับชาติพันธุ์ในลุ่มน้ำโขง" ระหว่างวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ 2559 ณ หอประชุมมหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จังหวัดสกลนคร จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร)