คำกล่าวรายงาน (การประชุมวิชาการระดับชาติ – ผ้าทอในวิถีชีวิตไทย-ไท)

คำกล่าวรายงาน

ในพิธีเปิดการประชุมวิชาการระดับชาติ

 

ผ้าทอในวิถีชีวิตไทย – ไท

 

โดย  รองศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา  จงสถิตย์วัฒนา

ผู้อำนวยการสถาบันไทยศึกษา   จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

เรียน ท่านอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

ดิฉันในนามผู้อำนวยการสถาบันไทยศึกษา  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย    และคณะผู้ร่วมจัดการประชุม  รู้สึกเป็นเกียรติและขอขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งที่ท่านรองอธิการบดี  กรุณามาเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการระดับชาติเรื่อง  ผ้าทอในวิถีชีวิตไทย – ไท   ในวันนี้

 

ผ้าที่ทอด้วยมือโดยใช้ไหมหรือฝ้าย นับเป็นผลผลิตทางภูมิปัญญาของคนในสังคมที่อาศัยในดินแดนที่เป็นสยามประเทศราว  700 – 800  ปี  ก่อนคริสตกาลแล้ว  โดยมีหลักฐานทางโบราณคดีที่ปรากฎให้เห็นเช่นที่อำเภอหนองหาน   จังหวัดอุดรธานี  เป็นต้น  ผ้าที่ทอด้วยมือมีหลากหลายลวดลายและรูปแบบตามกระบวนการวิธีที่ถักทอขึ้น และแสดงความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น  อีกทั้งยังแสดงให้เห็นความชำนาญของช่างทอที่สืบเชื้อสายจากกลุ่มชนต่างๆ  ที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยด้วย

 

สังคมไทยนั้นนับว่าโชคดีที่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี  พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า  ทรงเป็นผู้ให้ความสนพระทัยในเรื่องการทอผ้า   โดยทรงสนับสนุนให้มีการตั้งโรงเย็บผ้า  และทรงเป็นผู้นำสตรีไทยด้านการเย็บผ้าแบบตะวันตก  นอกจากนี้ยังทรงมีส่วนในการอนุรักษ์พัฒนางานศิลปะในการทอผ้าพื้นบ้านของชุมชนอ่างศิลาและเขาสามมุก จังหวัดชลบุรี รวมถึงการพัฒนาเพิ่มลายทอผ้าไทยแบบใหม่ที่มีความงดงาม

 

เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสา อัยยิยาเจ้าในโอกาสครบ 150 ปี  วันพระราชสมภพ  และในโอกาสที่องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศยกย่องให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญทางด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ประยุกต์  (สาธารณสุข)  สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์  โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคม  สถาบันไทยศึกษา  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  จึงเห็นสมควรร่วมกันจัดประชุมวิชาการระดับชาติเรื่อง  “ผ้าทอในวิถีชีวิตไทย – ไท”  เพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสอันสำคัญนี้และเพื่อเป็นการส่งเสริมการทอผ้าที่บ่งบอกภูมิปัญญาและวัฒนธรรมการแต่งกายของคนไทย – ไท ได้เป็นอย่างดี  โดยกำหนดการประชุมเป็น 2 วัน คือวันที่ 20 และ 21 มิถุนายน  2556 ในการนี้ได้รับความร่วมมือด้วยดีจากนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ที่ให้เกียรติเป็นวิทยากรเสนอบทความ ได้แก่ ศูนย์ศิลปาชีพพิเศษฯสวนจิตรลดา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และขอขอบคุณ อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ นักวิชาการอิสระไว้ ณ ที่นี้ด้วย 

 

สำหรับผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วยคณาจารย์  นักวิชาการ  นักศึกษา  ตลอดจนผู้สนใจทั่วไปประมาณ  150   คน

 

บัดนี้ได้เวลาอันสมควรแล้วกราบเรียนท่านอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวเปิดการประชุมวิชาการครั้งนี้ด้วย จักขอบพระคุณยิ่ง