จากธนบุรีถึงนครศรีธรรมราช: พุทธศาสนากับการสร้างตำนานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

อาจารย์ ดร.อาทิตย์ ชีรวณิชย์กุล

 

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

บทความวิจัยนี้มุ่งศึกษาเรื่องเล่าหรือตำนานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งเล่าเรื่องการสวรรคตที่ต่างไปจากความรับรู้ตามประวัติศาสตร์กระแสหลัก คือเล่าว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมิได้ถูกสำเร็จโทษที่กรุงธนบุรีก่อนการสถาปนาพระราชธานีใหม่ แต่ได้ทรงพระผนวชและเสด็จไปประทับบำเพ็ญสมาธิกรรมฐาน ณ ถ้ำแห่งหนึ่งในนครศรีธรรมราชตราบจนสวรรคตลงในภายหลัง ซึ่งมีทั้งเรื่องที่เล่าโดยบุคคลต่างๆ และเรื่องที่เล่าสืบทอดกันในท้องถิ่นนครศรีธรรมราช จากการศึกษาทำให้เห็นว่า พุทธศาสนามีบทบาทสำคัญในเรื่องเล่ากลุ่มนี้ กล่าวคือ เรื่องเล่ากลุ่มนี้จะเน้นว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเชี่ยวชำนาญและใฝ่พระทัยในการปฏิบัติสมาธิอย่างยิ่ง และเป็นไปมิได้ที่จะทรงพระสติวิปลาส ซึ่งแตกต่างไปจากคำกล่าวในเอกสารประวัติศาสตร์ที่มักระบุว่า ทรงบำเพ็ญสมาธิกรรมฐานจนเสียพระสติ นอกจากนี้ ผู้ที่เล่าเรื่องสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชตามแนวเรื่องนี้ มักเป็นพระภิกษุหรือผู้ทรงศีลที่เชื่อกันว่าเป็นผู้ทรงคุณทางสมาธิและเป็นที่นับถือของพุทธศาสนิกชน ที่สำคัญ เรื่องเล่าหรือตำนานเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการสร้าง “ภาพ” ให้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเป็นพระโพธิสัตว์หรือพระอริยะพระองค์หนึ่ง และเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเสียสละเพื่อความอยู่รอดของชาติบ้านเมืองและความเจริญของพุทธศาสนาอย่างแท้จริง

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "บุหงารำไป: ความหลากหลายและประสานกลมกลืนของวัฒนธรรมภาคใต้" ระหว่างวันที่ 8-9 พฤษภาคม 2557 ณ โรงแรมเซ็นทารา หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา กระทรวงวัฒนธรรม, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ)