จากบทเพลง “แต่ก่อน” ถึงวรรณกรรม “เรื่องจากคุณปู่” กลวิธีทางวรรณศิลป์กับการบอกเล่าเรื่องราวปักษ์ใต้

อาจารย์วัศรนันทน์ ชูทัพ

 

อาจารย์ประจำหลักสูตรสาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

 

 

บทความนี้มุ่งนำเสนอด้านวรรณศิลป์ในวรรณกรรม จากการศึกษาทำให้มองเห็นสายธารการสืบสานองค์ความรู้ของคนภาคใต้ซึ่งคนพื้นถิ่นได้บันทึกไว้ในวรรณกรรม โดยเมื่อมองย้อนกลับไปจะเห็นพัฒนาการของวรรณกรรมที่ผู้ประพันธ์ได้ใช้บันทึกเรื่องราวภาคใต้ เริ่มตั้งแต่วรรณกรรมมุขปาฐะที่สืบทอดด้วยการจดจำแล้วบอกเล่า วรรณกรรมลายลักษณ์ที่ผู้ประพันธ์ใช้ภาษาและหนังสือสื่อสารระหว่างผู้เขียนกับผู้อ่าน และในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีการพิมพ์และการสื่อสารโทรคมนาคมเจริญรุ่งเรือง การบันทึกเรื่องราวภาคใต้ในวรรณกรรมปัจจุบันศิลปินจึงรังสรรค์รูปแบบการประพันธ์ในเชิงบูรณาการที่สอดรับไปกับการสื่อสารอย่างมีมิติ

 

บทเพลง “แต่ก่อน” และวรรณกรรม “เรื่องจากคุณปู่” คือ ผลิตผลของยุคสมัยซึ่งเมื่อนำองค์ประกอบของวรรณศิลป์มาวิเคราะห์วรรณกรรมทั้ง 2 ประเภท ทำให้มองเห็นลักษณะร่วมทางวรรณศิลป์ในวรรณกรรม ดังนี้ (1) ผู้ประพันธ์ทั้ง 2 คน ได้รังสรรค์ผลงานขึ้นจากอารมณ์สะเทือนใจอันเกิดจากความภาคภูมิใจที่ตนเองได้เกิดอยู่บนผืนแผ่นดินปักษ์ใต้  (2) ผู้ประพันธ์ทั้ง 2 คน ได้ใช้ “ภาษา” เป็นเครื่องมือในการบอกเล่าให้มองเห็นความเป็นปักษ์ใต้ชนิดกลั่นประสบการณ์ออกมาเล่า (3) ผู้ประพันธ์ทั้ง 2 คน ได้ใช้กลวิธีการเล่าเรื่องเป็นแบบเรื่องเล่าผ่านตัวละครคุณปู่และคุณตา

 

ด้านอัตลักษณ์ของวรรณศิลป์ในวรรณกรรมมี ดังนี้ (1) ผู้ประพันธ์ทั้ง 2 คน นำเสนอความเป็นปักษ์ใต้ผ่านรูปแบบวรรณกรรมที่ตนเองถนัด กล่าวคือ ตุด นาคอน นำเสนอความเป็นปักษ์ใต้ผ่านบทเพลงเพื่อชีวิตทั้งนี้เพราะตนเองอยู่ในฐานะนักร้อง ส่วน อุดร บวรสุวรรณ นำเสนอความเป็นปักษ์ใต้ผ่านวรรณกรรมเยาวชนทั้งนี้เพราะตนเองอยู่ในฐานะนักเขียน (2) ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของผู้ประพันธ์ทั้ง 2 คน มีความแตกต่างกัน คือ อุดร บวรสุวรรณ สร้างสรรค์วรรณกรรมขึ้นตามขนบการแต่งวรรณกรรมเยาวชน ส่วน ตุด นาคอน สร้างสรรค์บทเพลงขึ้นโดยนำศิลปะการ แสดงพื้นบ้านมโนราห์มาบูรณาการเข้ากับบทเพลงเพื่อชีวิตทำให้ได้บทเพลงที่เป็นนวัตกรรมใหม่แห่งยุค

 

ด้านการบอกเล่าความเป็นปักษ์ใต้วรรณกรรมทั้ง 2 ประเภทกล่าวถึงร่วมกันในประเด็นหัตถกรรมพื้นบ้านและประเพณีพื้นบ้าน ส่วนประเด็นที่นำเสนอแตกต่างกัน คือ วรรณกรรมเรื่องจากคุณปู่นำเสนอประเด็นอาหารพื้นบ้านและพันธุ์ไม้พื้นเมือง ส่วนบทเพลงแต่ก่อนนำเสนอประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมของชุมชนภาคใต้อันเกิดจากกระแสโลกาภิวัตน์ แต่อย่างไรก็ตามวัตถุประสงค์สำคัญในการสร้างสรรค์วรรณกรรมของนักเขียนภาคใต้นี้ก็เพื่อใช้วรรณกรรมเป็นสื่อกลางในการบอกเล่าเรื่องราวปักษ์ใต้

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วรรณกรรมทักษิณศึกษา: อดีต ปัจจุบัน อนาคต" ระหว่างวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2560 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรุงเทพฯ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหลักสูตรสาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี)