นิทานปันหยี: สมบัติวรรณคดีแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อาจารย์ ดร.ธานีรัตน์ จัตุทะศรี

 

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

นิทานปันหยีเป็นนิทานวีรบุรุษเรื่องสำคัญของชวาที่ดำรงอยู่ในวัฒนธรรมทางวรรณศิลป์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาช้านานนับหลายร้อยปี และก่อให้เกิดการสร้างสรรค์วรรณคดีอย่างแพร่หลายในดินแดนต่างๆ เช่น ชวา บาหลี มลายู ไทย เขมร พม่า ลาว และสิงคโปร์  บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์คุณค่าและความสำคัญของนิทานปันหยีในฐานะสมบัติวรรณคดีของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ผลการศึกษาพบว่า วรรณคดีปันหยีของชาติต่างๆ แสดงให้เห็นความเป็น “สมบัติวรรณคดี” หรือความเจริญงอกงามทางวรรณคดีและวรรณศิลป์ 3 มิติสำคัญ ได้แก่ มิติความเป็นวรรณคดีข้ามศิลป์ ที่ใช้ถ่ายทอดผ่านศิลปะการขับร้องและการแสดงอย่างหลากหลาย รวมทั้งก่อเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ทัศนศิลป์  มิติความเป็นวรรณคดีมรดก ที่มีพลังทางวรรณศิลป์ แสดงวัฒนธรรมประจำชาติ และได้รับยกย่องสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน  และมิติความเป็นวรรณคดีแห่งรักและชีวิต ที่นำเสนอคติรักอันซาบซึ้งควบคู่กับการให้คติชีวิต อันสร้างความสำเริงอารมณ์และปัญญาแก่ผู้อ่านผู้ฟัง  วรรณคดีปันหยีนับเป็นสมบัติวรรณคดีอันล้ำค่าที่แสดงถึงพลังปัญญาของบรรพชนที่ได้สร้างสรรค์ สืบทอด และใช้ประโยชน์จากวรรณคดีเรื่องนี้อย่างหลากหลาย ทั้งยังแสดงให้เห็นว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเชิงวัฒนธรรมมาอย่างยาวนาน

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "บุหงารำไป: ความหลากหลายและประสานกลมกลืนของวัฒนธรรมภาคใต้" ระหว่างวันที่ 8-9 พฤษภาคม 2557 ณ โรงแรมเซ็นทารา หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา กระทรวงวัฒนธรรม, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ)