บุหงาส่าหรี: พัสตราภรณ์แห่งนครทักษิณ

อาจารย์ธีรพันธุ์  จันทร์เจริญ

 

สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

 

 

เครื่องนุ่งห่ม เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ นอกเหนือไปจาก อาหาร   ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย มนุษย์ในแต่ละยุคสมัย  ไม่เพียงแต่ใช้เครื่องนุ่งห่มสำหรับปกปิดร่างกายอันเป็นความต้องการขั้นพื้นฐานเท่านั้น แต่ได้ใช้เครื่องนุ่งห่มเพื่อตอบสนองความต้องการในการดำเนินชีวิตที่นอกเหนือไปจากความต้องการขั้นพื้นฐานในรูปแบบต่าง ๆ อีกหลายประการ     

 

ดังนั้น วัฒนธรรมการแต่งกายในแต่ละสังคม จึงเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงค่านิยม ทัศนคติ ความเชื่อ สภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ระบอบการปกครอง ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีของสังคมนั้นได้เป็นอย่างดี 

 

ภาคใต้ของพระราชอาณาจักรไทยในปัจจุบัน ประกอบด้วย 14 จังหวัด คือ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง พังงา กระบี่ ภูเก็ต สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ล้วนมีพัฒนาการมาจากบ้านเมือง รัฐโบราณ ในคาบสมุทรภาคใต้ พบร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มานานนับหมื่นปี สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จวบจนกระทั่งเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ เครื่องนุ่งห่มและแบบแผนวัฒนธรรมการแต่งการก็มีวิวัฒนาการมาโดยลำดับ ตามเหตุ ปัจจัยกระทบต่าง ๆ ทางสังคม 

 

ผลจากการศึกษาวิเคราะห์ในเชิงลึก โดยมีมิติของเวลาเป็นเครื่องกำกับ กำหนดนับตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 19 หรือสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีเรื่อยมากระทั่งราวพุทธศักราช 2475 อันเป็นช่วงระยะเวลาที่สยามผันเปลี่ยนเข้าสู่ยุคประชาธิปไตย ทำให้ผู้เขียนสามารถกำหนดแบบแผนวัฒนธรรมการแต่งกายของผู้คนในภาคใต้ได้ 3 ลักษณะ โดยอิงกระแสวัฒนธรรมหลักในภูมิภาค ดังนี้

 

1.วัฒนธรรมการแต่งกายของชาวไทยพุทธ ประชากรส่วนใหญ่ในภูมิภาค มีการยึดโยงอย่างเหนียวแน่นกับวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวสยามในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ได้รับผลกระทบโดยตรงจากแบบแผนการแต่งกายของราชสำนักและผู้คนในราชธานี

 

2.วัฒนธรรมการแต่งกายของชาวไทยมุสลิม มีระเบียบแบบแผนสอดคล้องกับหลักศาสนาอิสลามและวัฒนธรรมมลายูถิ่นไทย มีความหนาแน่นอยู่ในบริเวณตอนล่างของภูมิภาค ได้แก่ จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

 

3.วัฒนธรรมการแต่งกายของชาวไทยเชื้อสายจีน มีการนำคติความเชื่อ รูปแบบการแต่งกายแบบจีน มาผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมการแต่งกายของผู้คนในภูมิภาค มีการกระจายตัวแทรกอยู่ทั่วทั้งภูมิภาค และแสดงเอกลักษณ์ชัดเจนแถบชายฝั่งทะเลตะวันตก บริเวณจังหวัดภูเก็ต พังงา และระนอง

 

บทความฉบับนี้ จะกล่าวเน้นหนักในส่วนของวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวไทยพุทธในภาคใต้ อันเป็นวัฒนธรรมการแต่งกายกระแสหลักของภูมิภาค โดยมีวัฒนธรรมการแต่งกายอีกสองกลุ่มวัฒนธรรมร้อยรัดยึดโยงไว้ด้วยกัน

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "บุหงารำไป: ความหลากหลายและประสานกลมกลืนของวัฒนธรรมภาคใต้" ระหว่างวันที่ 8-9 พฤษภาคม 2557 ณ โรงแรมเซ็นทารา หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา กระทรวงวัฒนธรรม, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ)