ประสิทธิผลของการแพทย์พื้นบ้าน: มุมมองทางมานุษยวิทยา

ดร.ยงศักดิ์ ตันติปิฎก

 

หน่วยวิจัยระบบภูมิปัญญาสุขภาพ สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ

 

 

บทความนี้ต้องการชี้ให้เห็นถึงมุมมองของหมอพื้นบ้านและผู้ป่วยต่อประสิทธิผลของการแพทย์พื้นบ้าน โดยการศึกษาการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ของหมอพื้นบ้านภาคเหนือตอนบนในช่วงวิกฤตการณ์โรคเอดส์และหลังจากนั้น การศึกษาพบว่า องค์ประกอบสำคัญของการแพทย์พื้นบ้านที่สนับสนุนบริบทที่สร้างความชอบธรรมให้กับหมอพื้นบ้านได้แก่ ระบบความรู้การแพทย์ท้องถิ่น จักรวาลวิทยาท้องถิ่น และระบบศีลธรรมท้องถิ่น ซึ่งมีอิทธิพลต่อมุมมองของหมอพื้นบ้านและผู้ป่วยต่อประสิทธิผลของการแพทย์พื้นบ้าน โดยมุมมองเหล่านี้อาจแตกต่างจากสิ่งที่การแพทย์แผนปัจจุบันระบุว่าเป็นประสิทธิผล การรักษาแบบพื้นบ้านได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิผลเมื่อสามารถรักษาความเจ็บป่วยและทำให้เกิดสุขภาวะ ด้วยการบำบัดที่อาการป่วย การทำให้ธาตุภายในร่างกายเป็นปกติ การขับพิษออกจากร่างกาย การควบคุมอาหาร การปรับสภาพความเป็นอยู่ และการปล่อยวางจากความทุกข์ที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของความรู้ทางการแพทย์แผนปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติของหมอพื้นบ้านในการจัดการกับเชื้อโรค และวิธีในการประเมินผลลัพธ์ในการรักษา จักรวาลวิทยาท้องถิ่นทำให้ปฏิบัติการของหมอพื้นบ้านและผู้ป่วยเต็มไปด้วยความหมายและส่งเสริมให้เกิดอำนาจเชิงสัญลักษณ์ของยา ด้วยการเชื่อมโยงยากับอำนาจเหนือธรรมชาติของสิ่งศักดิ์สิทธิ์และครูหมอในจักรวาลวิทยาท้องถิ่น ความเมตตากรุณา ความเชื่อถือศรัทธา คุณความดี และบุญ สามารถส่งผลดีต่อการบำบัดรักษา โดยเฉพาะเมื่อหมอพื้นบ้านและผู้ป่วยต่างก็อยู่ในโลกทางศีลธรรมเดียวกัน

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการ "การรักษาโรคกับการใช้ยาสมุนไพรในวัฒนธรรมไทย-ไท (2017 Chulalongkorn Thai-Tai Heritage Forum: Healing and Herbal Medicine) ระหว่างวันที่ 22-23 มิถุนายน 2560 ณ โรงแรมเลอ เมอริเดียน เชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยและอาเซียนศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITAS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ล้านนาศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรมไทย สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง)