ปาตานี: ความสัมพันธ์กับโลกมลายู

อาจารย์นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน

 

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

 

ดินแดนปาตานีในอดีต ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดต่างๆในปัจจุบัน เช่น จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมทั้งสี่อำเภอในจังหวัดสงขลาถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของโลกวัฒนธรรมมลายู(Malay Cultural World) ดังนั้นการเคลื่อนไหลของผู้คนทั้งจากปาตานีไปยังส่วนอื่นๆของโลกมลายู หรือจากส่วนอื่นๆของโลกมลายูมายังดินแดนปาตานีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันถือเป็นเรื่องปกติ  แม้ว่าในปัจจุบันโลกวัฒนธรรมมลายูจะถูกแบ่งโดยภูมิรัฐศาสตร์ แต่ความสัมพันธ์ ความมีวัฒนธรรมร่วม ยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน

 

การเคลื่อนไหลของประชาชนในส่วนอื่นๆของโลกมลายูมายังปาตานี มีทั้งในรูปแบบการศึกษา สังคม การเมือง เช่น การเกิดขึ้นของกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่นในปาตานีที่มีบรรพบุรุษมาจากเมืองจัมบี จังหวัดจัมบี กะสุมาตรา ประเทศอินโดนิเชีย  รวมทั้งนักการเมืองที่มีรากเหง้ามาจากชนเผ่ามันไดลิง หรือชนเผ่าบาตัก จากเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนิเชีย หรือกลุ่มนักการเมืองที่มีนามสกุลบ่งบอกถึงความเป็นบรรพบุรุษมาจาก “ชวา”  

 

การที่กลุ่มผู้ปกครองส่วนหนึ่งของเมืองต่างๆในบรรดาเจ็ดหัวเมืองมีบรรพบุรุษหรือมาจากภายนอกปาตานี เช่น ตระกูลผู้ปกครองเมืองสายบุรีที่มีการบันทึกว่ามาจากมีนังกาเบา  ตระกูลผู้ปกครองเมืองยะลาที่มาจากรัฐเคดะห์ มาเลเซีย

 

สำหรับการเคลื่อนไหลของคนปาตานีไปยังส่วนอื่นๆของโลกมลายูนั้น มีทั้งที่ไปเผยแพร่ศาสนาอิสลาม เศรษฐกิจ และการหนีสงคราม  จะเห็นได้ว่าบางส่วนของโลกวัฒนธรรมมลายู จะมีคนปาตานีอพยพไปตั้งถิ่นฐาน  ในบริเวณพื้นที่บริเวณใกล้เคียง เช่น รัฐกลันตัน รัฐตรังกานู รัฐเปรัค รัฐเคดะห์ และรัฐเปอร์ลิส จะมีประชาชนปาตานีส่วนหนึ่งอพยพไปตั้งถิ่นฐาน ไม่ว่าจะเป็นการเกิดจากปัญหาสงคราม เศรษฐกิจ   แต่ก็ยังมีส่วนหนึ่งที่อพยพไปยังพื้นที่ไกลกว่า เช่น การอพยพไปตั้งถิ่นฐานในเกาะสุลาเวซี เพื่อหนีสงครามระหว่างปาตานีกับสยาม  หรือการไปตั้งถิ่นฐาน และกลายเป็นผู้นำชุมชนชาวมลายูในกรุงจาการ์ตา  ส่วนการเดินทางไปเพื่อเผยแพร่ศาสนาอิสลามยังดินแดนต่างๆในโลกวัฒนธรรมมลายูนั้น มีหลักฐานว่ามีนักการศาสนาจากปาตานีเดินทางไปเผยแพร่ศาสนาทั้งในประเทศมาเลเซีย ในเกาะสุมาตรา  เกาะกาลีมันตัน ประเทศอินโดนิเชีย

 

การเคลื่อนไหลของประชาชนทั้งจากนอกดินแดนปาตานีมายังดินแดนปาตานี และประชาชนจากดินแดนปาตานีไปยังส่วนต่างๆของโลกวัฒนธรรมมลายู  จนถึงปัจจุบันความสัมพันธ์เหล่านี้ก็ยังคงมีอยู่ ดังนั้นความรุนแรง ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังเป็นความเจ็บปวดของผู้คนกลุ่มหนึ่งในโลกวัฒนธรรมมลายู

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "บุหงารำไป: ความหลากหลายและประสานกลมกลืนของวัฒนธรรมภาคใต้" ระหว่างวันที่ 8-9 พฤษภาคม 2557 ณ โรงแรมเซ็นทารา หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา กระทรวงวัฒนธรรม, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ)