ผ้าทอชาติพันธุ์ผู้ไทย : การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและการต่อยอดภูมิปัญญา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิทธิชัย สมานชาติ

 

คณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

 

 

ผ้าทอชาติพันธุ์ผู้ไทย/ภูไทเป็นผ้าทอมือที่มีพัฒนาการภายใต้โครงการศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถและโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์(OTOP) ในบทความครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ (1)เพื่อวิเคราะห์เอกลักษณ์ดั้งเดิมของผ้าทอของชาวผู้ไทย/ภูไทและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม (2)เพื่อศึกษาการต่อยอดภูมิปัญญาการทอผ้าของชาวผู้ไทย/ภูไทในประเทศไทย ตลอดจนปัจจัยเชื่อมโยงที่เกี่ยวข้อง หลังจากการสำรวจศึกษาหลักฐานผ้าตัวอย่างของชาวผู้ไทย/ภูไท จากทั้งแหล่งพิพิธภัณฑ์ คลังสะสมส่วนบุคคล รวมทั้งจากแหล่งผลิตผ้าทอมือที่ยังสืบทอดอยู่ในปัจจุบัน เราได้สำรวจพบผ้าทอมือแบบดั้งเดิมจำนวน 19 ชนิด

 

ผ้าทอของชาวผู้ไทย/ภูไท สามารถวิเคราะห์เอกลักษณ์จากสีสัน วัสดุเส้นใย การย้อมสีเทคนิคการทอผ้า และลวดลายผ้า โดยเราพบว่าผ้าที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของชาวผู้ไทย/ภูไท คือ “ผ้าแพรวา” ซึ่งมีสีสันเอกลักษณ์ดั้งเดิมคือ สีโทนแดง เราได้พบว่าข้อสังเกตว่าชาวผู้ไทย/ภูไท ดั้งเดิมนั้นจะทอผ้าแพรวาโดยใช้ “เส้นไหม” ในการตกแต่งลวดลายด้วยเส้นพุ่งพิเศษ และใช้ “เส้นฝ้าย” ทอเป็นพื้นหลักทั้งเส้นยืนและเส้นพุ่ง โดยช่างทอชาวผู้ไทย/ภูไทจะใช้ “นิ้วก้อย” เป็นอุปกรณ์ในการสอดเส้นด้ายพุ่งพิเศษ ด้วยการใช้ระบบการยกตะกอลวดลายช่วยในการทอ สำหรับลักษณะการทอผ้าด้วยเทคนิค “มัดหมี่” ของชาวผู้ไทย/ภูไท จะใช้เทคนิคการมัดโอบลำหมี่เพื่อย้อมสีลวดลายมัดหมี่เฉพาะสีพื้นหลัก ส่วนสีตกแต่งส่วนย่อยของลวดลายประกอบนั้นจะใช้กิ่งไม้ทุบปลายทำเป็นพู่กันเพื่อแต้มสีสำหรับสีสันเอกลักษณ์ของผ้าซิ่นมัดหมี่ของชาวผู้ไทย/ภูไท กรณีของกลุ่มตำบลโพน อำเภอคำม่วงจังหวัดกาฬสินธุ์ คือ การใช้สีสีดำเป็นสีพื้นหลักและใช้สีส่วนลวดลายมัดหมี่ด้วยสีแดง เหลือง เขียวขาว ทำให้สีสันภาพรวมของผ้ามัดหมี่ดูมืดทึม เป็นความงดงามตามแบบเฉพาะตัว ส่วนลวดลายผ้า ดั้งเดิมของชาวผู้ไทย/ภูไทนั้นสื่อสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับความเชื่อของบรรพบุรุษ ความศรัทธาในพระพุทธศาสนา และสื่อถึงธรรมชาติ สภาพสิ่งแวดล้อมของชุมชน

 

ผ้าทอของชาวผู้ไทย/ภูไทจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมจากการทอผ้าเพื่อใช้สอยเองในครอบครัว มาเป็นการทอผ้าเพื่อการจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์ โดยได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงลักษณะเพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในสังคมเมืองและชาวต่างชาติได้แก่เอกลักษณ์สีแดงของผ้าแพรวามีการปรับเพิ่มสีสันให้มีสีสันที่หลากหลาย ในด้านลวดลายผ้าได้มีการออกแบบผสมผสานกับวัฒนธรรมสังคมเมือง และมีการปรับเพิ่มความยาวของผ้าทอเพื่อนำไปใช้ตัดเย็บเป็นชุดแบบชาวตะวันตก ประเด็นที่น่าสนใจคือ เพศชายได้เข้ามามีบทบาทในฐานะช่างทอ จากเดิมเป็นงานเฉพาะเพศหญิง ในขณะที่ช่างทอผู้ไทย/ภูไท อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร ได้ต่อยอดภูมิปัญญาการทอผ้าดั้งเดิมที่เคยย้อมทับสีผ้าโสร่งไหมให้เข้มขึ้นด้วยการหมักโคลน มาประยุกต์กับการทำผลิตภัณฑ์ผ้าหมักโคลน เพื่อผลิตสินค้าสิ่งทอร่วมสมัยที่สร้างรายได้จำนวนมากให้ชุมชน

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "ผ้าทอในวิถีชีวิตไทย-ไท" ระหว่างวันที่ 20-21 มิถุนายน 2556 ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชาออคิด  จังหวัดขอนแก่น จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม)