ผ้าฝ้าย : ปฐมบทผ้าทอแห่งชีวิตและการขัดเกลาทางสังคม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมชาย  นิลอาธิ

 

สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

 

เครื่องนุ่ง เครื่องห่ม เป็นปัจจัยจำเป็นในการดำรงชีวิตของมนุษย์ที่มีมาแต่อดีตกาล จากหลักฐานการขุดค้นแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์หลายแห่ง พบหลักฐานหลายอย่างบ่งบอกว่า ผู้คนในดินแดนไทยรู้จักนำเส้นใยธรรมชาติมาทอเป็นผืนผ้าและประดิษฐ์เป็นเครื่องนุ่งห่ม คือ การพบเศษผ้าและเส้นใยในดินและที่ติดอยู่กับเครื่องมือเครื่องประดับที่ทำด้วยสำริดและเหล็ก รวมทั้งอุปกรณ์หลายอย่างที่ใช้ในการทอผ้าด้วย นอกจากนี้ยังมีร่องรอยจากตำนานนิทานพื้นบ้านหลายเรื่อง บอกให้รู้ว่าในอดีตเคยมีการ “ตำหูกเข็นฝ้าย…ทอผ้าทอซิ่นอันนุ่ง… อันห่มอันปก…”  และยังรวมถึงมีการพบหลักฐานบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับเรื่องการ “ปลูกฝ้าย” และการกำหนดให้เลกต้องส่งส่วย “ผ้าขาว และ ผ้าลาย”  ซึ่งมีนัยบอกว่าเป็น “ผ้าฝ้าย” เป็นสำคัญ

 

แม้ในสังคมเกษตรกรรมจะมีการแบ่งบทบาทหน้าที่ตามเพศไม่ชัดเจนนักก็ตาม แต่ก็เห็นได้ว่าการทอผ้าเป็นบทบาทหน้าที่หลักของเพศหญิง ดังนิทานเรื่องขุนบรมราชาธิราช ตอนสอนลูกสะใภ้ทั้ง 7 มีคำสอนอย่างหนึ่งว่า “ให้คึดหาอันจักตำหูกเขนฝ้าย” ที่สะท้อนถึงคุณสมบัติสำคัญของลูกผู้หญิงที่ต้องปฏิบัติตัวเป็น “สาวผู้ดี”   ด้วยการฝึกหัดต่ำหูกเข็นฝ้าย ให้ได้เป็นปฐมก่อน เพื่อเตรียมตัวเป็น “หญิงแม่เรือน” ที่ดีของครอบครัว เครือญาติในสังคมต่อไปเมื่อมีเหย้ามีเรือน

 

ลูกผู้หญิงที่จะเป็นสาวผู้ดีในสังคมอดีตจะเริ่มต้นจากการทอผ้าฝ้ายก่อนเสมอ เพราะเป็นผ้าที่จำเป็นใช้สอยในชีวิตของทุกคน ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่อายุก่อนเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นด้วยการช่วยแม่เก็บดอกฝ้าย ไปจนถึงการเรียนรู้กระบวนการทอผ้าฝ้ายทุกขั้นตอนให้ได้ผ้าฝ้ายหลายชนิด ทั้งผ้าขาว ผ้าลาย ผ้าขิด-ผ้าจก และผ้าหมี่ฝ้าย ด้วยการเรียนรู้จากแม่เป็นปฐมบทจนถึงเครือญาติและเพื่อน ๆ เพื่อให้ทุกคนในครอบครัวได้ใช้สอยในชีวิตประจำวันและในพิธีกรรม ความเชื่อ โอกาสพิเศษต่าง ๆ เช่น ทำเครื่องนุ่ง เครื่องห่ม เครื่องปก เครื่องคาด และเครื่องลาด(เครื่องปูลาดอาสนะ) ฯลฯ  ซึ่งในทุกขั้นตอนของการทอผ้าฝ้ายที่ลูกผู้หญิงต้องฝึกหัดเพื่อเป็นสาวผู้ดีนี้จำต้องเรียนรู้เทคนิควิธีการต่าง ๆ อันเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านหลายชนิด ตั้งแต่การเก็บดอกฝ้าย ตากดอกฝ้าย การอิ้วฝ้าย ดีดฝ้าย ล้อฝ้าย ไปจนถึงขั้นตอนที่ยากขึ้นอีกคือ การเข็นฝ้ายและการเปียฝ้าย เพื่อนำไปย้อมสีที่นิยมย้อมด้วยครามที่ต้องเรียนรู้เป็นพิเศษอีก กระทั่งถึงขั้นตอนการปั่นหลอดเส้นเครือและเส้นตำที่พร้อมจะนำไปตำหูกเป็นผืนแพฝ้าย

 

เมื่อได้วัสดุเส้นใยฝ้ายพร้อมจะตำหูกแล้ว ก็จำเป็นต้องเรียนรู้เครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆที่เริ่มจะยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น ตั้งแต่การค้นเครือหูกด้วยหลักเฝือค้นหูก แล้วจึงนำเครือหูกไปสืบใส่ฟืม ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญในการทอผ้า ที่ต้องใช้เวลาและความอดทนอย่างมากในการสืบค้นเพื่อสอดเส้นเครือเข้ารูฟันฟืมที่มี “มาตรา” เฉพาะที่เป็น “ระบบ” กำหนดระยะความกว้างของหน้าผ้า ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดกันมานานนักแล้ว

 

ระหว่างช่วงเวลาในกระบวนการทอผ้าฝ้ายนี้ หญิงสาวผู้ดีส่วนใหญ่มักจะขยายทักษะไปสู่การทอผ้าไหมกับแม่ไปพร้อม ๆ กันด้วย เพราะผ้าไหมเป็นผ้าทอที่ยอมรับกันทั่วไปในเรื่องความงามและความคงทนของวัสดุเส้นใยทั้งผ้าขาวและผ้าสี รวมถึงเทคนิคการมัดหมี่ ทั้งหมี่หว่านหรือหมี่รวดและหมี่คั่นที่มีสีสันของลวดลายแวววาวระยับตา ที่นิยมใช้ในโอกาสพิธีกรรมความเชื่อในสังคมที่จะบ่งบอกถึงทักษะความสามารถอีกระดับหนึ่งของสาวผู้ดีวัยรุ่นที่พร้อมจะมีครอบครัวเป็นหญิงแม่เรือนที่ต้องเป็นแม่และเป็นครูให้กับลูกสาวต่อไปทั้งวิชาการทอผ้าฝ้ายและผ้าไหม

 

สำหรับกรณีผ้าฝ้ายนั้น กล่าวได้ว่าเป็นผ้าที่ใช้สอยในวิถีชีวิตประจำวันทั่วไป เป็นเสมือนผ้าทอเพื่อชีวิตในเบื้องต้นอย่างแท้จริงได้ แต่ขณะเดียวกันทั้งเส้นใยฝ้ายและผ้าฝ้ายก็จะมีโอกาสพิเศษที่นำไปใช้ในพิธีกรรมความเชื่อต่างๆ เช่นกันกับเส้นใยไหมและผ้าไหมด้วย ดังมีการพบใช้เส้นฝ้ายผูกข้อต่อแขนในพิธีสูตรขวัญต่างๆ และใช้ปอยฝ้ายเป็นเครื่องคายบูชาครู และใช้เป็นเครื่องสมมาที่มักเรียกกันรวม ๆ ว่า “ซิ่นผืน แพวา”

 

เมื่อหญิงแม่เรือนทำหน้าที่ทอผ้าในสถานภาพความเป็นแม่และเป็นป้าของลูกหลานนั้น ส่วนใหญ่มักต้องฝึกหัดเทคนิคการทอผ้าอีกชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่า “ผ้าเหยียบ” (ผ้าเหยียบเขา)  หรือ  “ผ้าห่มเหยียบ”  เพราะเป็นที่รู้กันว่าต้องใช้เทคนิคการทอด้วยการเหยียบเขาที่ยากกว่าการทอผ้าชนิดอื่นๆ ที่ทอด้วยการเก็บเขาธรรมดาเพียง 2 เขาเท่านั้น (มีผ้าหมี่ไหมที่ทอ 3 เขาอยู่บ้าง แต่ก็มีน้อย)  นั่นคือการทอผ้าเหยียบจะมีการเก็บเขาเหยียบมากขึ้นตั้งแต่ 3-4-5-6 และ 8 เขา ที่เป็นเทคนิคพิเศษทำให้เกิดลวดลายได้หลายรูปแบบและมีขนาดต่างกันได้ตามต้องการ และที่สำคัญยิ่งคือจะทำให้ได้เนื้อผ้าหนาและแน่นมากกว่าการทอผ้าทั่วไปที่ใช้เทคนิคการทอ 2 หรือ 3 เขา

 

อดีตหญิงแม่เรือนในวัยชราที่อยู่กับลูกสาว-ลูกเขย และหลานนั้น นอกจากจะช่วยเลี้ยงดูหลาน ๆ ต่างเพศวัยแล้ว จะช่วยดูแลบ้านเรือน-ครัวบ้าง แต่คนทั่วไปมักจะมองข้ามกิจกรรมสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การนั่งสาวเส้นใยไหมชั้นในสุด ต่อจากไหมน้อยในยามเย็น ซึ่งเรียกกันว่า ไหมขี้กะเพย เพื่อนำไปเข็นควบใช้ทอผ้าเหยียบ และทั้งยังเป็นที่พึ่งในการเรียนรู้เรื่องการทอผ้าเหยียบที่ต้องใช้เทคนิคภูมิปัญญาขั้นสูงที่ซับซ้อนให้กับลูกสาวและหลานสาวด้วย

 

ครั้นถึงยุคอุตสาหกรรม-โลกาภิวัตน์ ภาพอดีตการผลิตผ้าทอทั้งผ้าฝ้ายและผ้าไหมก็ค่อยเริ่มเลือนหายไปจากสังคมเกษตรกรรมในอีสาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการขัดเกลาทางสังคมเพื่อสืบทอดผลิตซ้ำที่หญิงสาวชั้นลูกหลานต่างพากันละเลยด้วยระบบการศึกษาใหม่ และมุ่งออกนอกชุมชนเพื่อทำงานหาเงินในเมืองอุตสาหกรรมตามกระแสทุนนิยมที่รุนแรงมาไม่น้อยกว่า 50 ปีแล้ว

 

แม้กระแสการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงจนเกือบจะทำให้วัฒนธรรมการทอผ้าฝ้ายในสังคมอีสานต้องซบเซาและสลายตัวไปเพราะ “หลงเมาของใหม่” แล้วก็ตาม แต่ ณ ปัจจุบันก็พอจะมองเห็นความหวังในการฟื้นตัวของการทอผ้าฝ้ายกลับคืนมาบ้าง จากระบบการศึกษาที่เห็น “คุณค่า” ของภูมิปัญญาชาวบ้านในลักษณะ “ไม่ลืมของเก่า” ที่เป็นรากเหง้า-รากแก้วของสังคม ความคิดดังกล่าวนี้ได้แพร่กระจายในวงกว้างมากขึ้นจากสื่อสารสนเทศยุคใหม่ที่เห็นความสำคัญด้วย จนดูเหมือนว่าจะมีอิทธิพลให้คนในสังคมหันกลับมาช่วยกันสร้าง “ค่านิยมใหม่” ในงานช่างฝีมือทอผ้าฝ้ายกันอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการใช้ผ้าฝ้ายขาวและผ้าฝ้ายย้อมคราม

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "ผ้าทอในวิถีชีวิตไทย-ไท" ระหว่างวันที่ 20-21 มิถุนายน 2556 ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชาออคิด  จังหวัดขอนแก่น จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม)