ผ้าห่อคัมภีร์: งานหัตถศิลป์แห่งพลังศรัทธา

รองศาสตราจารย์วีณา  วีสเพ็ญ

 

สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

 

ผ้าห่อคัมภีร์เป็นผ้าทอที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ไทที่นับถือพุทธศาสนา และปรากฏสืบเนื่องมาในชุมชนตั้งแต่สมัยอยุธยา ผ้าห่อคัมภีร์ คือผ้าห่อใบลานซึ่งได้จารพระไตรปิฎก อันได้แก่ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎกและพระอภิธรรมปิฎก รวมทั้งจารเรื่องราวทางคติธรรมต่างๆ เช่น พุทธประวัติ ชาดก เป็นต้น ผ้าห่อคัมภีร์ใบลานจัดอยู่ในกลุ่มผ้าที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา มีอยู่หลายประเภทและมีการสร้างสรรค์โดยมีศรัทธาของคนในชุมชนเป็นเครื่องนำทาง เช่น ผ้าทังกา ผ้าพระบฏ ผ้าปูกราบ ผ้าหมอนถวายวัด ผ้าธง ตุง ผ้าผะเหวด เป็นต้น ผ้าที่เกี่ยวข้องกับศาสนาทุกประเภท ล้วนมีบทบาทของชายและหญิงทำการเกื้อกูลกันประดิษฐ์ด้วยฝีมือที่งดงาม แสดงเอกลักษณ์ของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ ผ้าห่อคัมภีร์ใบลานเป็นผ้าที่ใช้หุ้มภายนอกของคัมภีร์ใบลาน เพื่อป้องกันฝุ่น แมลง และสิ่งสกปรกต่างๆ เป็นการช่วยถนอมรักษาให้คัมภีร์ใบลานสะอาดและใช้ได้ยาวนาน พบอยู่ทุกภาคของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากคัมภีร์ใบลานถือเป็นของสูงและชาวบ้านเคารพนับถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผ้าที่นำมาห่อคัมภีร์ใบลานจึงต้องเป็นผ้าใหม่ สวยงาม เนื้อดี นำไปถวายวัดด้วยจิตศรัทธาว่า จะได้อานิสงส์ ได้บุญไม่น้อยกว่าการสร้างหนังสือใบลานด้วยการจารใบลาน การสร้างไม้ประกับลวดลายสวยงามที่ฝ่ายชายได้สร้างสรรค์ขึ้น ผ้าห่อคัมภีร์ใบลานจึงมีพัฒนาการด้านรูปแบบ ลวดลายและการใช้เส้นใยควบคู่มาพร้อมๆ กับพัฒนาของสังคม และเป็นโอกาสที่สตรีในชุมชนได้ร่วมสร้างอานิสงส์ โดยนำงานหัตถกรรมการทอที่ประกอบด้วยการสร้างสรรค์ศิลปะด้านการมัด การย้อม การขิด การจก การเย็บซึ่งมีในชุมชนมาร่วมรักษาธรรมเจดีย์ คือพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ที่จารในใบลาน ด้วยเชื่อว่าเป็นทางแห่งบุญอีกอย่างหนึ่ง

 

ผ้าห่อคัมภีร์ใบลานอีสาน มีหลายรูปแบบ และสะท้อนว่ามีพัฒนาการของการปรับเพื่อประโยชน์ใช้สอยให้เหมาะสม โดยเป็นผ้าทั้งผืน เช่น ผ้าหางกะรอก ผ้าซิ่นเต็มผืนมีหัวและตีนซิ่นลายมัดหมี่ ผ้าปูม ผ้าตาขนาดต่างๆ คือ ผ้าโสร่ง ผ้าขาวม้า ผ้าขิด ผ้าลายดอก ผ้าพื้น ในระยะแรก ต่อมาจึงมีการปรับรูปแบบให้เหมาะสมกับการห่อคัมภีร์ใบลานโดยเฉพาะ ตามขนาดของคัมภีร์ใบลานและโอกาสในการใช้มากขึ้น ผ้าเต็มผืนมักใช้ห่อคัมภีร์ที่มีจำนวนผูกของใบลานจำนวนมาก และเก็บไว้ศึกษาในโอกาสต่างๆ ผ้าห่อขนาดเล็กมีการสาบ การรองด้านล่างด้วยผ้า ด้วยไม้ไผ่ เก็บแต่งขอบด้วยการกุ๊น มักใช้กับคัมภีร์ที่มีผูกเล็ก หรือได้รับการนำไปใช้เทศน์บ่อย ส่วนใหญ่เป็นผ้าลายขิด ซึ่งมีลวดลายสีสันหลากหลาย ผ้ามัดหมี่และผ้าขิดมีลวดลายเกี่ยวกับพืช สัตว์ คน รูปทรงเรขาคณิต วัตถุสิ่งของ ชนิดของเส้นใยระยะแรกเป็นไหมและฝ้ายที่ทอเองในชุมชน กลายมาเป็นการปักบนผ้าเนื้อแพรหรือผ้าต่วน ผ้ากำมะหยี่ และเส้นใยสังเคราะห์ และมีการทำจำหน่ายเชิงพาณิชย์ ทำให้มีการซื้อไปทำบุญมากกว่าจัดทำเอง

 

ปัจจุบันวัฒนธรรมการถวายผ้าห่อคัมภีร์ในชุมชนต่างๆ ลดน้อยลงมากและแทบจะไม่มีหลงเหลือในชุมชน ความงดงามของการประดิษฐ์สร้างสรรค์ด้วยพลังศรัทธาได้แปรเปลี่ยนเป็นการเอาความสะดวกรวดเร็วเป็นเครื่องนำชีวิต คุณค่าของผ้าห่อคัมภีร์จึงคงประโยชน์เฉพาะแก่นักวิชาการด้านวัฒนธรรม ภูมิปัญญา ชาติพันธุ์ และผู้สนใจงานวิจิตรศิลป์บางกลุ่มเท่านั้น ที่สนใจศึกษาและตีความในเรื่องต่างๆ จากเทคนิคและลวดลายผ้าที่ปรากฏ ถึงแม้ทุกคนต่างตระหนักว่า สังคมย่อมต้องมีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา แต่การเปลี่ยนจนไม่คงตัวตนที่งดงามที่เคยมี เป็นสิ่งที่น่าเสียดายและน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ทางออกของเรื่องนี้อยู่ที่การสร้างความรู้ ความคิดและค่านิยมให้เด็ก เยาวชน ตระหนักในความสำคัญของศิลปกรรมที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาในระบบการศึกษา สร้างความคุ้นเคยและโอกาสในการปฏิบัติในชุมชน โดยวัด สถานศึกษา  และชุมชนต้องเข็มแข็งในการสร้างค่านิยมและรสนิยมที่เหมาะสมให้เกิดขึ้น ผ้าห่อคัมภีร์ใบลานและงานหัตถศิลป์อื่นๆ ในชุมชนจะได้ไม่กลายเป็นของเก่าเก็บอีกต่อไป

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "ผ้าทอในวิถีชีวิตไทย-ไท" ระหว่างวันที่ 20-21 มิถุนายน 2556 ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชาออคิด  จังหวัดขอนแก่น จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม)