พระโพธิสัตว์กับภาพตัวแทนคติความเชื่อและอำนาจดั้งเดิม: นาค แถน และ แดนผี

สุทธินันท์ ศรีอ่อน

 

นักศึกษาปริญญาเอก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

 

วัตถุประสงค์ของบทความวิจัยนี้ คือ เพื่อศึกษาภาพตัวแทนของตัวละครพระโพธิสัตว์ในชาดกพื้นบ้านอีสานกับคติความเชื่อและอำนาจของคติความเชื่อดั้งเดิม 3 คติ คือ ความเชื่อเรื่องนาค พญาแถน และผีในชาดกพื้นบ้านอีสาน ข้อมูลที่ใช้ศึกษาคือชาดกพื้นบ้านอีสานสำนวนร้อยกรอง 32 เรื่อง

 

ผลการศึกษามีดังนี้ (1) พฤติกรรมของตัวละครพระโพธิสัตว์ที่มีปฏิสัมพันธ์กับตัวละครภาพตัวแทนของนาค ผีฟ้า พญาแถน และผีเป็นไปในลักษณะของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เบียดขับ กดทับ และเหลื่อมซ้อนกัน (2) บทปฏิพากย์ระหว่างตัวละครพระโพธิสัตว์กับตัวละครภาพแทนความเชื่อดั้งเดิมในชาดกพื้นบ้านอีสานแสดงให้เห็นการต่อสู้และลดทอนอำนาจของคติความเชื่อดั้งเดิม รวมถึงการปรับตัวและการประนีประนอมเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติ (3) ภาพตัวแทนของนาค แถน และผีแสดงให้เห็นอำนาจของความเชื่อดั้งเดิมเรื่องงูใหญ่ ชนพื้นเมือง ผู้ปกครองไร้คุณธรรม และอำนาจเจ้าต่างรัฐในชุมชนดั้งเดิม รวมถึงอำนาจผีผู้หญิงและผีผู้ชายในพื้นที่อีสานและลาวล้านช้าง

 

ภาพตัวแทนของคติความเชื่อทั้ง 3 ที่เกี่ยวข้องกับตัวละครพระโพธิสัตว์ในชาดกพื้นบ้านอีสานจึงน่าจะเป็นข้อมูลสำคัญที่ชี้ให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างคติความเชื่อดั้งเดิมที่มีอยู่และพระพุทธศาสนา เกี่ยวกับ ชนชั้น โลกทัศน์ทางจิตวิญญาณ และคตินิยมความเชื่อในวรรณกรรมพุทธศาสนาแบบชาวบ้าน

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "ความเชื่อ เรื่องเล่า ตำนาน กับชาติพันธุ์ในลุ่มน้ำโขง" ระหว่างวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ 2559 ณ หอประชุมมหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จังหวัดสกลนคร จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร)