พลวัตตัวตน  “คน”  “เมือง”  เถิน

ภูเดช แสนสา

 

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่              

 

 

เมืองเถินสร้างบ้านแปลงเมืองอย่างช้าประมาณพุทธศตวรรษที่ 16–17 เกิดขึ้นจากปัจจัยสำคัญ 2 ประการคือ (1) มีทรัพยากรสำคัญโดยเฉพาะแก้ว (แก้วโป่งข่าม) และแร่ธาตุอื่นๆ และ (2) ตั้งอยู่บนชุมทางการคมนาคมสำคัญทั้งทางบกและทางน้ำ ด้วยเมืองเถินอยู่พรมแดนระหว่างอาณาจักรหริภุญไชย (ต่อมาคือล้านนา) กับอาณาจักรสุโขทัย (ต่อมาคืออยุธยา) และอาณาจักรมอญพม่า จึงเกิดการประทะสังสรรค์กันหลากหลายด้าน โดยเฉพาะการศึกสงคราม การอพยพเคลื่อนย้ายของผู้คน ศิลปวัฒนธรรม และการเศรษฐกิจ ที่ในแต่ละช่วงสมัยตัวตนของผู้คนและตัวตนของเมืองก็มีพลวัตความผันแปรและมีความเป็นลักษณะเฉพาะ ซึ่งแบ่งได้ออกเป็น 5 ช่วง คือ (1) เมืองเถินก่อนยุคล้านนา (ก่อน พ.ศ.1839) เป็นเมืองหน้าด่านอาณาจักรหริภุญไชย ผสมกลมกลืนไทกับลัวะ (2) เมืองเถินในยุคล้านนาเป็นอาณาจักรเอกราช (พ.ศ.1839–2101) เป็นเมืองหน้าด่าน ชุมทางการคมนาคม และแหล่งซ่องสุมกำลังไพร่พล (3) เมืองเถินยุคล้านนาเป็นประเทศราชของพม่า (พ.ศ.2101-2317) ช่วงแรกพม่าให้อิสระกลุ่มผู้ปกครองสืบเชื้อสาย ช่วงที่ 2 ควบคุมอย่างใกล้ชิด (4) เมืองเถินยุคสกุลวงศ์เจ้าชุมพูและกึ่งหัวเมืองประเทศราชของสยาม (พ.ศ.2333-2442) เจ้าเมืองมีอิสระปกครองบ้านเมืองสูง ภายใต้ระบบเมืองสองฝ่ายฟ้า และ (5) เมืองเถินยุคสยามทำการปฏิรูปการปกครองถึงปัจจุบัน (พ.ศ.2442-2558) ดึงเข้าสู่ความเป็นคนไทยและใช้ระบบราชการ

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "พลังและพลวัตวัฒนธรรมล้านนา" วันที่ 30 มกราคม 2558 ณ โรงแรมเวียงลคอร จังหวัดลำปาง จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง)