พลวัตทางส้งคมของครอบครัวช่างทอผ้าไทย-ลาว

ดร.วศิน  ปัญญาวุธตระกูล

 

สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร

 

 

บทความนี้ เป็นการศึกษาถึงพลวัตทางสังคมของครอบครัวช่างทอผ้าในพื้นที่มรดกโลก ศึกษาเปรียบเทียบประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  โดยมีวัตถุประสงค์ในการศึกษา 2 ประการ คือ 1) เพื่อศึกษาพลวัตทางสังคมของครอบครัวช่างทอผ้าในพื้นที่ มรดกโลก 2) เพื่อเปรียบเทียบพลวัตทางสังคมของครอบครัวกรณีศึกษาในพื้นที่มรดกโลกของเมืองศรีสัชนาลัยในประเทศไทยและเมืองหลวงพระบางในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 

 

ผลการศึกษาพบว่า ลักษณะเด่นของครอบครัวในพื้นที่มรดกโลกศรีสัชนาลัย คือ มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะการผลิตเพื่อใช้เป็นการผลิตเพื่อขาย  และปรับเปลี่ยนรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่แสดงความเป็นมรดกโลกไปเป็นการผลิตเพื่อประโยชน์ใช้สอย  โดยเน้นตลาดภายนอกชุมชน  และเกิดการพัฒนาความสัมพันธ์แบบเครือญาติไปสู่ความสัมพันธ์ในรูปแบบนายจ้างกับลูกจ้าง  และเป็นเครือข่ายกลุ่มผู้ประกอบอาชีพ  ซึ่งมีรูปแบบการถ่ายทอดความรู้ภายในกลุ่มอาชีพ

 

ในขณะที่ ลักษณะเด่นของครอบครัวในพื้นที่มรดกโลกหลวงพระบาง คือ ลักษณะการผลิตเป็นการผลิตเพื่อขายภายในชุมชนเป็นหลัก  และเพิ่มรูปแบบผลิตภัณฑ์เพื่อเป็นสินค้าของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยว  โดยลักษณะความสัมพันธ์เป็นแบบเครือญาติ  และมีรูปแบบการถ่ายทอดความรู้ภายในกลุ่มครอบครัวและเครือญาติ

 

พลวัตทางสังคมของครอบครัวในพื้นที่มรดกโลกศรีสัชนาลัยและหลวงพระบางมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน คือ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างครอบครัว อันได้แก่ รูปแบบครอบครัว ที่อยู่อาศัยหลังแต่งงาน และโครงสร้างอำนาจในครอบครัว แต่มีประเด็นความแตกต่างของทั้งสองพื้นที่ คือ นโยบายของรัฐในประเทศไทยที่มีต่อพื้นที่มรดกโลกในช่วงเวลาต่างๆ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในทุกระดับตั้งแต่ระดับปัจเจกชนจนถึงความสัมพันธ์ในกลุ่มทางสังคม ในขณะที่ นโยบายรัฐของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวที่มีต่อพื้นที่มรดกโลกในช่วงเวลาต่างๆ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในระดับปัจเจกชนในเรื่องการยอมรับสถานภาพที่ได้มาด้วยความสามารถเท่านั้น

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "ผ้าทอในวิถีชีวิตไทย-ไท" ระหว่างวันที่ 20-21 มิถุนายน 2556 ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชาออคิด  จังหวัดขอนแก่น จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม)