พลวัตเรื่องเล่าพื้นบ้าน เรื่องเล่าชาติพันธุ์ในสังคมร่วมสมัย

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ศิราพร ณ ถลาง

 

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

ในบริบทของสังคมประเพณี (traditional society) เรื่องเล่าพื้นบ้านมีหลากหลายบทบาทหน้าที่ ทั้งใช้เล่าเพื่อความสนุกสนานหรือใช้เทศน์เพื่อสั่งสอนศีลธรรม ใช้อธิบายภูมินาม ใช้อธิบายที่มาในการประกอบพิธีกรรม  ใช้ประกอบการแสดงพื้นบ้าน ในบริบทสังคมไทยร่วมสมัย (contemporary society) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบริบทสังคมโลก สังคมทุนนิยมวัตถุนิยมและการท่องเที่ยว รวมทั้งบริบทสังคมข้ามพรมแดน เรื่องเล่าพื้นบ้านมีบทบาทใหม่ที่เด่นชัดขึ้น เช่น ได้รับการนำมาใช้สร้างอัตลักษณ์จังหวัดและจัดการท่องเที่ยว นำมาใช้สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เป็นต้น ทำให้การรับรู้เรื่องเล่าพื้นบ้านขยายขอบเขตจากหมู่บ้านและชุมชนไปสู่แวดวงที่กว้างขึ้น

 

กลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งเดิมทีอยู่ในสถานะของ “คนชายขอบ” และเรื่องเล่าของชาติพันธุ์ซึ่งมักอยู่ในรูปของตำนานอธิบายกำเนิดชาติพันธุ์ ตำนานอธิบายพิธีกรรม หรือถ้าอยู่ในเนื้อหานิทานมุขตลกของไทย กลุ่มชาติพันธุ์ก็มักตกเป็นตัวละครที่มีสถานภาพ “เป็นรอง” แต่ในสังคมไทยปัจจุบัน ด้วยบริบทโลกสมัยใหม่ ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์มีโอกาสใช้สื่อสมัยใหม่ไร้พรมแดน เช่น เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ได้อย่าง “เท่าเทียม” กับ “คนอื่น”  และใช้สื่อสมัยใหม่เป็นช่องทางในการสื่อสารบอกเล่าเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ให้ “โลก” ได้รับรู้   ในขณะเดียวกัน ทุกวันนี้ “โลก” ก็หันมาสนใจเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มากขึ้นกว่าในอดีต 

ดังนั้น จึงจะเห็นได้ว่า ทั้งเรื่องเล่าพื้นบ้านและเรื่องเล่าของชาติพันธุ์มีพลวัต และได้ก้าวเข้ามาอยู่ใน “มิติใหม่” ที่ทำให้ความเป็นพื้นบ้านและความเป็นชาติพันธุ์เป็นที่รับรู้ได้อย่างกว้างขวางขึ้นในบริบทสังคมปัจจุบัน

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "ความเชื่อ เรื่องเล่า ตำนาน กับชาติพันธุ์ในลุ่มน้ำโขง" ระหว่างวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ 2559 ณ หอประชุมมหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จังหวัดสกลนคร จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร)