พลังอำนาจทางภาษาและการสร้างอุดมการณ์ในหนังสือธรรมะของพระสายปฏิบัติอีสาน

กุสุมา  สุ่มมาตร์

 

นักศึกษาปริญญาเอก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

 

บทความวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์กลวิธีทางภาษาพลังอำนาจและการสร้างอุดมการณ์ในหนังสือธรรมะของพระสายปฏิบัติอีสาน โดยคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (purposive sampling) มี 6 กลุ่มตัวอย่าง ดังนี้  หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต  หลวงปู่ฝั้น อาจาโร  พระราชนิโรธรังสี (เทสก์ เทสรัสี)  พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท)  จาม มหาปุญฺโญ  และพระธรรมวิสุทธิมงคล (บัว ญาณสมฺปนฺโน)  จากผลงานสื่อสิ่งพิมพ์ภาษาไทยประเภทหนังสือธรรมะของกลุ่มตัวอย่างดังกล่าวนั้นผู้วิจัยคัดเลือกหนังสือธรรมะของกลุ่มตัวอย่างจำนวน 5 เล่ม ต่อพระสายปฏิบัติ 1 รูปและหนังสือธรรมะที่ใช้เป็นตัวบทศึกษาครั้งนี้รวม 30 เล่ม

 

ผลการศึกษาพบว่า เมื่อศึกษาโครงสร้างตัวบทคำสอนของพระสายปฏิบัติอีสานตามกรอบแนวคิดวาทกรรมวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ (critical discourse analysis) ของแฟร์เคลาฟ์ (Fairclough) และแนวคิดอำนาจของอัลเลน (Allen, 2005) โดยอำนาจทางภาษาที่มีนัยความหมายเชิงบวกมี 2 ประเภท คือ  อำนาจทางภาษาเพิ่มศักยภาพให้ตนเอง  อำนาจทางภาษาเพิ่มศักยภาพให้ผู้อื่น  พบว่าตัวบทหนังสือธรรมะของพระสายปฏิบัติมีวิถีปฏิบัติการทางภาษา การประกอบสร้างความรู้ สัญญะ โดยการประกอบสร้างนั้นมีที่มาจากอำนาจที่มีนัยความหมายเชิงบวก  ซึ่งทำให้เห็นร่องรอยวิถีปฏิบัติการทางภาษา  และอำนาจที่สัมพันธ์กัน

 

จากการวิเคราะห์กลวิธีทางภาษาในหนังสือธรรมะของพระสายปฏิบัติอีสาน พบ 5 กลวิธี  ได้แก่  การใช้อุปลักษณ์สงคราม  การใช้ภาวะแย้ง  การใช้สัญญะ  การนำเสนอวิธีการปฏิบัติวิปัสสนาเป็นลำดับขั้นตอน  การนำเสนอเนื้อหาทางพุทธศาสนาผ่านสีสันเฉพาะถิ่น  ทั้งนี้ กลวิธีการสื่อสารเหล่านี้ทำให้ผู้รับสารเข้าใจสารัตถธรรมของพุทธศาสนาทั้งในด้านโลกียธรรมและโลกุตรธรรม   และกลวิธีทางภาษาดังกล่าวได้สื่อให้เห็นอุดมการณ์ของพระสายปฏิบัติอีสาน ดังนี้ อุดมการณ์ธรรมชาตินิยม  อุดมการณ์เหตุผลนิยม  อุดมการณ์ท้องถิ่นนิยม  อุดมการณ์การหลุดพ้น  และอุดมการณ์จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "ความเชื่อ เรื่องเล่า ตำนาน กับชาติพันธุ์ในลุ่มน้ำโขง" ระหว่างวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ 2559 ณ หอประชุมมหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จังหวัดสกลนคร จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร)