พหุวัฒนธรรมภาคใต้ในมิติภูมิรัฐศาสตร์

ศาสตราจารย์ ดร. ครองชัย หัตถา

 

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

 

ภาคใต้ของประเทศไทยตั้งอยู่บนคาบสมุทรมลายู ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินซุนดา  พบหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์มานานกว่า 40,000 ปี มีประชากรดั้งเดิม 2 กุล่มชาติพันธุ์ตั้งถิ่นฐานมานาน ได้แก่ มองโกลอยด์ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของคนไทย ชวา มลายู ฯลฯ และออสตราลอยด์ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของคนพื้นเมืองเผ่าเซมัง และซาไก  ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ เครื่องเทศ แร่ธาตุ และสัตว์ป่าดึงดูดให้ผู้คนต่างภูมิภาคเข้ามาแสวงหาโภคทรัพย์ไม่น้อยกว่า 2,000 ปี ที่ผ่านมา  กอรปกับภาคใต้อยู่ในตำแหน่งเส้นทางการเดินเรือระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้ภาคใต้เป็นจุดแวะพักและเกิดเมืองท่าค้าขาย  บางเมืองที่มีทำเลเหมาะสม มีพัฒนาการต่อมาเป็นศูนย์กลางของรัฐและอาณาจักรโบราณ  พร้อมกับผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์และวัฒนธรรมอยู่ร่วมกันเป็นสังคมชาวภาคใต้  ตัวตนและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของคนภาคใต้ในแต่ละกลุ่ม มีความสัมพันธ์กับพัฒนาการของรัฐโบราณในอดีตที่เน้นการขยายอำนาจและแผ่อิทธิพลทั้งด้านการเมืองการปกครอง การค้าและเผยแผ่ศาสนา ต่อเนื่องมาถึงรัฐสมัยใหม่ที่เน้นการมีเขตแดนที่แน่นอนและจัดระเบียบการปกครองตามกฎเกณฑ์ของแต่ละรัฐ  ชุมชนและสังคมของคนภาคใต้จึงเป็นผลผลิตของพัฒนาการดังกล่าว การศึกษาวิจัยเพื่อเรียนรู้และเข้าใจความจริงดังกล่าวมีประโยชน์ต่อการอยู่ร่วมกันแบบสังคมพหุวัฒนธรรมและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและส่งเสริมวัฒนธรรมที่เน้นตัวตนและอัตลักษณ์ของภาคใต้รวมทั้งการเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมในระดับภูมิภาคและระดับโลกต่อไป

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "บุหงารำไป: ความหลากหลายและประสานกลมกลืนของวัฒนธรรมภาคใต้" ระหว่างวันที่ 8-9 พฤษภาคม 2557 ณ โรงแรมเซ็นทารา หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา กระทรวงวัฒนธรรม, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ)