พัฒนาการอักษรที่ใช้บันทึกวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้

ชะเอม แก้วคล้าย

 

ผู้เชี่ยวชาญภาษาโบราณระดับ 9 กรมศิลปากร

 

 

พัฒนาการอักษรที่ใช้บันทึกวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้หมายถึงการเปลี่ยนแปลงของอักษรที่ใช้บันทึกวรรณกรรมในท้องถิ่นภาคใต้  เมื่อคำว่า วรรณกรรมหมายถึงงานประพันธ์ทุกชนิดจำเป็นต้องย้อนกลับไปดูวรรณกรรมเก่าแก่ที่สุดในภาคใต้ ได้แก่ ศิลาจารึกสมุดไทยใบลานและเอกสารเอกสารอื่น ๆ จึงจับประเด็นการเปลี่ยนแปลงอักษรที่ใช้บันทึกวรรณกรรมในภาคใต้ได้ดังนี้

 

อักษรปัลลวะเป็นอักษรที่บันทึกวรรณกรรมเก่าแก่ที่สุดในภาคใต้ มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 11 – 12 บันทึกด้วยภาษาสันสกฤต มีเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธพบที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดปัตตานีจังหวัดพัทลุง และจังหวัดสุราษฎร์ธานี อักษรปัลลวะที่บันทึกวรรณกรรมเป็นภาษาทมิฬพบที่จังหวัดพังงา ต่อมาอักษรปัลลวะได้กลายรูป เรียกว่า อักษรหลังปัลลวะ ปรากฏครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 1318 ที่วัดเสมาเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช จนกระทั่ง พ.ศ.1726 ได้พบจารึกอักษรขอมโบราณที่ฐานพระพุทธรูปวัดหัวเวียง อำเภอไชยา เป็นอักษรที่พัฒนามาจากอักษรหลังปัลลวะจนถึง พ.ศ.1773 อักษรขอมโบราณได้พัฒนามาเป็นอักษรขอมแบบท้องถิ่นภาคใต้โดยเฉพาะ ซึ่งบันทึกในวรรณกรรมจารึกวัดหัวเวียงไชยา 1 และ 2 ต่อมาสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น ท้องถิ่นภาคใต้ได้รับอิทธิพลการศึกษาจากภาคกลาง แต่สำนักการศึกษาส่วนมากอยู่ที่วัด ซึ่งใช้อักษรขอมเป็นสื่อการศึกษาทำให้วรรณกรรมภาคใต้ได้พัฒนามาบันทึกด้วยอักษรขอมแบบภาคกลางซึ่งมีทั้งอักษรขอมที่บันทึกด้วยภาษาบาลีและอักษรขอมที่บันทึกด้วยภาษาไทย

 

ส่วนอักษรไทย แม้พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้เมื่อพ.ศ.1836 แต่ยังไม่แพร่หลาย อักษรไทยปรากฏในภาคใต้ครั้งแรกสมัยอยุธยา ที่ศิลาจารึกวัดแวงจังหวัดสุราษฏร์ธานี ซึ่งมีผู้สันนิษฐานว่า น่าจะมีครั้งที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.1991 – 2031)ประสงค์จะรวมอำนาจการปกครอง จึงเลิกตั้งเจ้าประเทศราช แต่ส่งขุนนางจากส่วนกลางไปปกครองแทน และน่าจะเป็นขุนนางจากเมืองเหนือ จึงทำศิลาจารึกที่มีอักขรวิธีและภาษาเหนือปะปนอยู่หลายคำ ข้อความกล่าวถึงเจ้าเมืองทองทั้งองค์นางผู้เฒ่าแม่เจ้าคำศรี ได้อาราธนาพระพุทธรูปเข้าไปสถิตในคูหาแก้ว เสร็จแล้วก็จัดฉลองและได้ตั้งท่านผ้าขาวให้เป็นผู้ปฏิบัติพระสงฆ์ ต่อมาอักษรไทยสมัยอยุธยาได้แพร่หลายไปสู่ภาคใต้ จนได้บันทึกวรรณกรรมลงสมุดไทยและใบลาน ดังที่ปรากฏในเรื่องพญาพิมพิสาร ซึ่งบันทึกด้วยอักษรผดสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ. 2357 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นเครื่องบ่งบอกว่า อักษรไทยสมัยอยุธยา ได้ใช้บันทึกวรรณกรรมภาคใต้มาจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อการศึกษาภาษาไทยได้ขยายไปสู่ภาคใต้ทำให้มีผู้ประพันธ์หรือผู้คัดลอกวรรณกรรมจากภาคกลางมาสอดแทรกความเป็นถิ่นใต้ไว้ในวรรณกรรมด้วยการใช้ภาษาถิ่น เขียนตามสำเนียงภาษาถิ่น ใช้อักขรวิธีสะกดคำตามความพอใจ โดยไม่คำนึงรูปเขียนที่ถูกต้องของหลักภาษาไทย จึงเป็นพัฒนาการอักษรที่ใช้บันทึกวรรณกรรมภาคใต้อีกระดับหนึ่ง เมื่อการศึกษาภาษาไทยเจริญรุ่งเรืองมาตามลำดับอักษรและภาษาที่ใช้บันทึกวรรณกรรมถิ่นใต้จึงได้พัฒนามาใช้อักษรและภาษาไทยอย่างทุกวันนี้

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วรรณกรรมทักษิณศึกษา: อดีต ปัจจุบัน อนาคต" ระหว่างวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2560 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรุงเทพฯ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหลักสูตรสาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี)