พุทธทำนาย: สารัตถะและการสืบทอด

คำนวณ นวลสนอง

 

ข้าราชการบำนาญสถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ

 

 

การวิจัยเรื่อง “พุทธทำนาย: สารัตถะและการสืบทอด” มุ่งศึกษาวรรณกรรมพุทธทำนายฉบับที่พบในภาคใต้ ประเด็นที่ศึกษาคือ หน้าที่และบทบาทสารัตถะที่ปรากฏในวรรณกรรม และการสืบทอดวรรณกรรมโดยใช้การวิเคราะห์เอกสารและสัมภาษณ์ผู้รู้เพิ่มเติม ข้อมูลจากการศึกษาวิเคราะห์นำเสนอด้วยวิธีการพรรณนาวิเคราะห์ วรรณกรรมที่นำมาศึกษา จำนวน 14 ฉบับ จำแนกเนื้อหาได้เป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นพุทธทำนายที่มีสาระเกี่ยวกับความฝันของพระเจ้าเสนทิโกศล  กลุ่มสองเป็นพุทธทำนายที่แทรกอยู่ในวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ภาคใต้เรื่อง พระเจ้าห้าพระองค์ และกลุ่มสามเป็นพุทธทำนายที่ได้เค้าเรื่องจากศิลาจารึกในประเทศอินเดีย

 

ผลจากการศึกษาพบว่า พุทธทำนายมีหน้าที่และบทบาทในด้านการสั่งสอนให้คติชีวิตและปลูกฝังความศรัทธาในศาสนา ให้การศึกษา มีความสัมพันธ์กับงานศิลปะ และใช้เป็นเครื่องปลอบประโลมใจ ด้านสารัตถะสำคัญคือ ความเชื่อและความสำคัญในพุทธศาสนา การอยู่ร่วมกันต้องมีแบบแผนพฤติกรรมที่เป็นมาตรฐานในสังคม และในส่วนของการสืบทอดวรรณกรรมพุทธทำนาย พบว่ามีการสืบทอดด้วยการเก็บรักษาต้นฉบับวรรณกรรมเก่า การคัดลอกต้นฉบับต่อๆ กันมา การสวดหนังสือ การเล่าเรื่องและการเทศน์ เหล่านี้เป็นการสืบทอดที่มีมาแต่เดิม เป็นการกระทำเพื่อการเรียนรู้และถ่ายทอดเรื่องราวเพื่อสืบต่อ ส่วนการแต่งสร้างขึ้นใหม่ การพิมพ์เผยแพร่ และการถ่ายทอดผ่านงานศิลปะด้านจิตรกรรม มีการดำเนินงานอย่างกว้างขวาง สำหรับปัจจุบันการพิมพ์เผยแพร่มีบทบาทในการสืบทอดมากที่สุด

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วรรณกรรมทักษิณศึกษา: อดีต ปัจจุบัน อนาคต" ระหว่างวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2560 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรุงเทพฯ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหลักสูตรสาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี)