ภาษาชนกลุ่มชาติพันธุ์ภาคใต้

รองศาสตราจารย์ไพบูลย์  ดวงจันทร์   

 

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ             

 

 

ภาคใต้ของประเทศไทยมีลักษณะพื้นที่เป็นคาบสมุทรทอดตัวยาวเหนือ–ใต้ครอบคลุม 14 จังหวัด มีเนื้อที่ประมาณ 71,195.91 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 13.66 ของพื้นที่ทั้งประเทศ มีภูมิอากาศร้อนชื้น มีมรสุมพัดผ่านตลอดปี บริเวณนี้จึงมีความหลากหลายทางชีวภาพ และมีมนุษย์อยู่อาศัยมาแล้วตั้งแต่สมัยหิน จากที่ภาคใต้มีมหาสมุทรขนาบทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกทำให้ภาคใต้มีบทบาทสำคัญในการเป็นเมืองท่าค้าขายทางทะเล ประกอบกับพื้นที่ภาคใต้โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ต ระนอง และพังงาอุดมไปด้วยแร่ดีบุก จึงมีชาวจีน อินเดีย สิงหล ทมิฬ อาหรับ มลายู เข้ามาติดต่อตั้งหลักแหล่งค้าขายตามท่าเรือชายฝั่งจนกระทั่งพัฒนาเป็นชุมชนใหญ่ ปัจจุบันในภาคใต้แม้ว่าจะมีเนื้อที่ไม่กว้างใหญ่ และแม้ว่ามีประชากรอาศัยอยู่เพียงประมาณเก้าล้านคน แต่ภาคใต้เป็นบริเวณสำคัญที่น่าสนใจและน่าศึกษาภาษาอย่างมากบริเวณหนึ่ง เนื่องจากประชากรเหล่านี้ต่างชาติพันธุ์ต่างภาษาอาศัยปะปนกันอยู่ และมีตระกูลภาษาที่สำคัญซึ่งอยู่ใกล้ชิดและต่างก็ถ่ายทอดให้แก่กันและกันอยู่ถึง 4 ตระกูล รวม 11 ภาษา และยังมีภาษาย่อยอีก 10 ภาษา ได้แก่

 

ภาษาตระกูลไท (Tai language family) มีผู้พูดถึงร้อยละ 96 ของประชากรในภาคใต้ ภาษาตระกูลไทมี 3 ภาษา คือ ภาษาไทยถิ่นใต้ ซึ่งจำแนกออกได้ 3 ภาษาย่อย คือ ภาษาไทยถิ่นใต้กลุ่มนครศรีธรรมราช ภาษาไทยถิ่นใต้กลุ่มไชยา และภาษาไทยถิ่นใต้กลุ่มตากใบ สำหรับภาษาไทยถิ่นใต้กลุ่มนครศรีธรรมราชและภาษาไทยถิ่นใต้กลุ่มไชยามีผู้พูดรวมกันถึงร้อยละ 93 ส่วนภาษาไทยถิ่นใต้กลุ่มตากใบมีผู้พูดเพียงร้อยละ 1 นอกจากนี้ก็มีภาษาไทยกลางมีผู้พูดเกือบร้อยละ 2 และภาษาไทยอีสานไม่ถึงร้อยละ 1

 

ภาษาตระกูลออสโตรเนเซียน (Austronesian language family) มีผู้พูดร้อยละ 3 มี 3 ภาษา ได้แก่ ภาษามลายู ซึ่งจำแนกออกได้ 3 ภาษาย่อย คือภาษามลายูถิ่นปัตตานีที่มีผู้พูดมากที่สุดและมีบทบาทสำคัญในด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา การปกครอง ภาษามลายูถิ่นนครศรีธรรมราช และภาษามลายูถิ่นบ้านควน อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ซึ่งภาษามลายูถิ่นบ้านควนนี้มีลักษณะใกล้เคียงกับภาษามลายูมาตรฐานมากที่สุด นอกจากนี้ยังมีภาษาอูรักละโว้ยและภาษามอเกล็น/มอเก็นที่มีผู้พูดไม่ถึงร้อยละ 1 ซึ่งพบแถบจังหวัดภูเก็ต ระนอง พังงา กระบี่ สตูล ตรัง  

 

ภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก (Austroasiatic language family) มีผู้พูดไม่ถึงร้อยละ 1  มี 3 ภาษา ได้แก่ ภาษากลุ่มอัสเลียนที่พบบริเวณเทือกเขาบรรทัดแถบจังหวัดสตูล พัทลุง ตรัง และเทือกเขาสันกาลาคีรีแถบจังหวัดยะลาและนราธิวาส ภาษากลุ่มอัสเลียน แบ่งออกได้ 4 ภาษาย่อย คือ ภาษาแต็นแอ็น ภาษาแตเดะ ภาษายะฮาย และภาษากันซิว นอกจากนี้ก็มีภาษามอญที่พบแถบจังหวัดชุมพรและจังหวัดสุราษฎร์ธานี และภาษาเขมรซึ่งเป็นภาษาพลัดถิ่นของแรงงานชาวเขมรจำนวนมากทั่วภาคใต้ 

 

ภาษาตระกูลจีน – ธิเบต (Sino – Tibetan language family) มีผู้พูดไม่ถึงร้อยละ 1 มี 2 ภาษา ได้แก่ ภาษาจีนซึ่งกระจายอยู่ทั่วภาคใต้ ที่มีจำนวนมาก เช่น จีนฮกเกี้ยน จีนแคะ จีนแต้จิ๋ว  จีนไหหลำ และเปอรานากันหรือจีนช่องแคบซึ่งพบมากที่จังหวัดภูเก็ต นอกจากนี้ก็มีภาษาพม่าซึ่งเป็นภาษาพลัดถิ่นของแรงงานชาวพม่าจำนวนไม่น้อย ไปกว่าแรงงานชาวเขมรที่เข้ามาทำงานทั่วภาคใต้เช่นเดียวกัน

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "บุหงารำไป: ความหลากหลายและประสานกลมกลืนของวัฒนธรรมภาคใต้" ระหว่างวันที่ 8-9 พฤษภาคม 2557 ณ โรงแรมเซ็นทารา หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา กระทรวงวัฒนธรรม, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ)