ย้อนอดีต แลปัจจุบัน เห็นอนาคต วรรณกรรมทักษิณ

รองศาสตราจารย์ประพนธ์ เรืองณรงค์

 

ประธานคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์วรรณกรรมถิ่นใต้ ราชบัณฑิตยสภา

 

 

วรรณกรรมทักษิณตั้งแต่อดีตที่แพร่หลายและเป็นที่นิยมในท้องถิ่น เริ่มจากวรรณกรรมมุขปาฐะ โดยศิลปินพื้นบ้าน เช่น โนรา หนังตะลุง และเพลงบอก ต่อมาเมื่อมีผู้รู้หนังสือซึ่งส่วนมากเป็นพระภิกษุและผู้ลาสิกขาแล้วมีความสนใจและถนัดการประพันธ์ จึงสร้างสรรค์วรรณกรรมลายลักษณ์โดยการเขียนหรือคัดลอกลงหนังสือบุด รวมทั้งจารลงในใบลาน

 

ยุคนั้นมีผู้ไม่รู้หนังสือจำนวนมาก แต่สนใจเรื่องราวจากวรรณกรรม จึงมีการฟังการสวดอ่านตามวัดและตามบ้าน ซึ่งเป็นมหรสพอย่างหนึ่งของชาวใต้ โดยเฉพาะที่นครศรีธรรมราช มีการสวดอ่านตามด้านระเบียงวัด เรียกว่า “สวดด้าน”

 

ต่อมาเมื่อวรรณกรรมลายลักษณ์จากรูปแบบหนังสือบุดได้พัฒนาด้วยระบบการพิมพ์เป็นรูปเล่ม ขณะเดียวกันการศึกษาก้าวหน้าจากการเรียนในวัด มาเป็นการเรียนในระบบโรงเรียน ทำให้มีผู้รู้หนังสือมากขึ้น ชาวใต้เริ่มสนใจอ่านวรรณกรรมที่แพร่หลายมาจากกรุงเทพฯ โดยเฉพาะหนังสือเล่มเล็ก เล่มละสลึง                  จากโรงพิมพ์ย่านวัดเกาะ (เล่มสลึงพึงซื้อท่านผู้อ่าน หนังสือย่านวัดเกาะเพราะหนักหนาฯ) ประกอบกับการมีพื้นฐานความสนใจกาพย์กลอน นักประพันธ์ชาวใต้จึงแต่งและพิมพ์อย่างหนังสือเล่มเล็กดังกล่าว รวมทั้งมีโรงพิมพ์เกิดขึ้นในหลายจังหวัดภาคใต้

 

ตั้งแต่ พ.ศ. 2512 เป็นต้นมา สถาบันอุดมศึกษา เช่น วิทยาลัยครูในท้องถิ่น ได้เปิดหลักสูตรวรรณกรรมท้องถิ่น จึงมีการรวบรวมและศึกษา โดยเก็บรวบรวมหนังสือบุดตามวัดและตามบ้านเรือน (หนังสือใบลานได้รับความสนใจน้อยมาก) การรวบรวมนั้น บางแห่งขาดระบบสารนิทัศน์ ไม่สะดวกต่อการค้นคว้า เนื่องจากบุคลากรผู้สนใจวรรณกรรมท้องถิ่นมีจำนวนน้อย ดังนั้นการปริวรรต การศึกษาวิเคราะห์และการเผยแพร่จึงได้ผลไม่มากนัก ที่ได้ผล เช่น “ภูมิปัญญาทักษิณจากวรรณกรรมและพฤติกรรม” มีศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์เป็นหัวหน้าโครงการ และ “วรรณกรรมทักษิณ วรรณกรรมคัดสรร” มีศาสตราจารย์ชวน เพชรแก้ว เป็นหัวหน้าโครงการ

 

อย่างไรก็ตาม งานรวบรวม ศึกษา และเผยแพร่วรรณกรรมทักษิณคงมิได้หยุดนิ่ง เพรายังมีผลงานของนักวิชาการให้เห็นอยู่บ้าง อนาคตคงเพิ่มปริมาณและคุณภาพของบุคลากรในการสร้างสรรค์ผลงานให้มีความก้าวหน้า และเป็นประโยชน์ต่อสังคมยิ่งขึ้น

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วรรณกรรมทักษิณศึกษา: อดีต ปัจจุบัน อนาคต" ระหว่างวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2560 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรุงเทพฯ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหลักสูตรสาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี)