รูปโฉมวรรณกรรมปันหยีมลายูในคลังวรรณกรรมไทย

ศาสตราจารย์ ดร.รัตติยา  สาและ

 

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ 

 

 

เรื่องปันหยีทุกสำนวนที่มีอยู่ในชวา มลายู ไทย เขมร พม่า ที่เป็นภาษาชวา มลายู บาหลี สาสัก และไทย  แม้นว่าเนื้อเรื่องในแต่ละสำนวนนั้นมีเกร็ดเพิ่มเติมที่แปลกและแตกต่างระหว่างกันบ้าง  ก็เป็นเพียงเรื่องความแตกต่างทางด้านสังคมและวัฒนธรรมบางมุมของผู้สืบทอดในบางท้องถิ่นที่ให้ชีวิตและอนาคตกับเรื่องปันหยีสำนวนนั้นเท่านั้น  แต่ส่วนที่เห็นว่าสำคัญที่สุดคือเรื่องปันหยีทุกสำนวนต้องมีองค์ประกอบเฉพาะที่สามารถแสดงให้เห็นคุณสมบัติของความเป็นเรื่องปันหยีได้  ซึ่งผู้ศึกษาสามารถพิจารณาองค์ประกอบดังกล่าวได้จากรูปแบบของโครงเรื่อง  ตัวละคร  ฉาก และภูมิหลังทางวัฒนธรรมที่ปรากฏในเรื่องเหล่านั้น ในทำนองเดียวกันหากผู้ศึกษาวรรณกรรมปันหยีประสงค์จะได้เห็นรูปโฉมวรรณกรรมปันหยีมลายูที่กลายภาพมาจากวรรณกรรมปันหยีชวาเป็นมลายู หรือว่าลักษณะของวรรณกรรมปันหยีมลายูภายหลังจากที่ได้รับการยอมรับจากสังคมไทยจนสามารถเข้าสู่คลังวรรณกรรมไทยมีการปรับตัวอย่างไร ก็ต้องย้อนไปพิจารณาจากองค์ประกอบดังกล่าวด้วย จึงจะเข้าใจ เหล่านี้เป็นแนวคิดเบื้องต้นอันเป็นที่มาของวัตถุประสงค์หลักของบทความเรื่องรูปโฉมวรรณกรรมปันหยีมลายูในคลังวรรณกรรมไทย  2 ข้อ คือ (1) เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องวรรณกรรมปันหยีมลายู-ชวากับผู้สนใจทั่วไป  (2) เพื่อแสดงให้เห็นสภาพการดำรงอยู่ของวรรณกรรมปันหยีมลายูในสังคมมลายูและไทย  โดยใช้เทคนิคการนำเสนอบทความนี้ด้วยการบรรยายสาระเชิงเปรียบเทียบตามความเหมาะสมของเนื้อหา

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "บุหงารำไป: ความหลากหลายและประสานกลมกลืนของวัฒนธรรมภาคใต้" ระหว่างวันที่ 8-9 พฤษภาคม 2557 ณ โรงแรมเซ็นทารา หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา กระทรวงวัฒนธรรม, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ)