วรรณกรรมคำสอนภาคใต้ “ฉบับพิมพ์เล่มเล็ก”: การสืบทอดและสร้างสรรค์ด้านคำสอน

ผู้ข่วยศาสตราจารย์ ดร.พัชลินจ์ จีนนุ่น

 

อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

 

 

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการสืบทอดและการสร้างสรรค์ของวรรณกรรมคำสอนภาคใต้ “ฉบับพิมพ์เล่มเล็ก”หรือวรรณกรรมที่มีรูปเล่มขนาดเล็กเหมือนหนังสือวัดเกาะของภาคกลาง จำนวน ๖๗ เรื่องผลการศึกษาพบว่าวรรณกรรมคำสอนกลุ่มนี้พบมากบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออก แต่งโดยนักเขียนชาวใต้ที่มีทั้งพระสงฆ์ ข้าราชการท้องถิ่น และชาวบ้านทั่วไปในช่วงพ.ศ. 2470-2519 วรรณกรรมคำสอนกลุ่มนี้มีการสืบทอดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากวรรณคดีคำสอนโบราณซึ่งเป็นคำสอนคุณธรรมที่อิงหลักธรรมในพระพุทธศาสนา 

 

การสืบทอดมี 2 ลักษณะ ลักษณะแรกคือการนำคำสอนโบราณมาพิมพ์ใหม่ และลักษณะที่สองคือการนำคำสอนโบราณที่ผู้แต่งเห็นว่าสำคัญมาแต่งใหม่โดยให้มีความครอบคลุมและขยายวงกว้างขึ้นมีทั้งคำสอนสำหรับคนทั่วไปและคำสอนเฉพาะกลุ่ม คำสอนที่สืบทอดมานี้ใช้ได้ดีในสังคมสมัยใหม่ที่เน้นการปลูกฝังพลเมืองให้เป็นคนดีมีศีลธรรมและสอดรับกับค่านิยมของชาวใต้ที่เน้นย้ำเรื่องการวางตนให้เหมาะสมแก่เพศและวัย

 

ส่วนเนื้อหาคำสอนที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่มี 4 ประการสำคัญ ประการแรก คำสอนที่เน้นพัฒนาคุณภาพชีวิตตามวัยและฐานะทางสังคม ประกอบด้วยคำสอนการปฏิบัติตนของผู้สูงวัยที่ไม่สร้างความเดือดร้อนรำคาญใจให้แก่บุตรหลานและคำสอนการปฏิบัติตนของคนจนที่ไม่ส่งผลกระทบทั้งต่อตนเองและการพัฒนาสังคม ประการที่สอง คำสอนที่เน้นพัฒนาคุณภาพชีวิตตามสถานภาพในครอบครัว ประกอบด้วยคำสอนการปฏิบัติตนของสามีต่อภรรยาเพื่อปรับปรุงพฤติกรรมของผู้ชายใต้ให้มีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น ทั้งเป็นการยกฐานะของผู้หญิงให้สูงขึ้นด้วยและคำสอนการปฏิบัติตนของบิดามารดาต่อบุตรที่ต้องดูแลเอาใจใส่บุตรให้มากขึ้น ประการที่สาม คำสอนที่เน้นพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนที่อยู่ร่วมกันในชุมชน เน้นสอนคนในชุมชนให้ร่วมใจกันพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ได้แก่ สอนให้พัฒนาการเกษตรเพื่อให้คนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งเป็นการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนให้ดีขึ้นด้วยและสอนให้สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างชาวบ้านกับข้าราชการท้องถิ่น โดยสอนให้ชาวบ้านมองข้าราชการท้องถิ่นในแง่บวกและสอนให้ข้าราชการท้องถิ่นสนใจความเป็นอยู่ของชาวบ้าน และประการที่สี่ คำสอนที่เน้นการปฏิบัติตนเพื่อเป็นพลเมืองดีของประเทศชาติตามนโยบายของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้แก่ สอนการปฏิบัติตนของพลเมืองที่เป็นเด็กโดยให้ทำหน้าที่ของนักเรียนที่ดี สอนการปฏิบัติตนของพลเมืองที่เป็นผู้หญิงให้มีส่วนร่วมด้านเศรษฐกิจและการป้องกันประเทศ สอนให้พลเมืองโดยทั่วไปปฏิบัติตามนโยบายรัฐและร่วมกันสร้างความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาล โดยคำสอนส่วนใหญ่อิงกับความเป็นจริงทางสังคมและนโยบายทางการเมืองทำให้เห็นว่าการสืบทอดและสร้างสรรค์ด้านเนื้อหาคำสอนเอื้อประโยชน์ต่อสังคมร่วมสมัยอย่างชัดเจน ไม่ขัดทั้งต่อค่านิยมของคนในท้องถิ่น นโยบายของรัฐบาลในเวลานั้น และวัฒนธรรมไทย

 

*บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาภาษาไทย บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2555 เรื่องลักษณะเด่นและบทบาททางสังคมของวรรณกรรมคำสอนภาคใต้ “ฉบับพิมพ์เล็ก” โดยได้รับทุนสนับสนุน การวิจัยจากสำนักงาน คณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ปี 2551

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วรรณกรรมทักษิณศึกษา: อดีต ปัจจุบัน อนาคต" ระหว่างวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2560 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรุงเทพฯ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหลักสูตรสาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี)