วรรณกรรมทักษิณ: วัฒนธรรมการสร้าง แนวคิด และผู้สร้างวรรณกรรม

ศาสตราจารย์ชวน  เพชรแก้ว

 

ภาคีสมาชิกประเภทวรรณศิลป์ สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสภา

 

 

วรรณกรรมทักษิณแต่เดิมบันทึกลงในวัสดุต่างๆ หลายชนิด แต่ผลงานบันทึกซึ่งตกทอดมาถึงปัจจุบันมากที่สุด คือ หนังสือบุด และใบลาน ปัจจุบันผลงานดังกล่าวที่มีสภาพสมบูรณ์เหลืออยู่ไม่ถึงร้อยละ 10 กิจกรรมการอ่านและสวดหนังสือในบริบทเดิม การคัดลอกสืบต่อกันมา การจดจำเรื่องราว การเก็บรวบรวมวรรณกรรมโดยส่วนบุคคลและสถาบันการศึกษา การจัดประชุมทางวิชาการ รวมถึงการศึกษาวิจัยที่ผ่านมา ล้วนเป็นกิจกรรมที่มุ่งมั่นเพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมอันดีงามดังกล่าวทั้งสิ้น

 

การศึกษาวรรณกรรมที่ผ่านมาทำให้ทราบว่า เนื้อหาสาระของวรรณกรรมทักษิณครอบคลุมกว้างขวางเกี่ยวกับศิลาจารึกและจารึกอื่นๆ ประวัติศาสตร์ พงศาวดารและตำนาน บันทึกเหตุการณ์สำคัญในท้องถิ่น      ความเชื่อและคตินิยม หลักศาสนาและปรัชญา กฎหมาย ประเพณีและพิธีกรรม สุภาษิตคำสอน ตำราและคัมภีร์ การแพทย์ นิทานประโลมโลก นิราศ วรรณกรรมเฉพาะกิจ บุคคลและสถานที่ และปกิณกะ

 

ด้านวัฒนธรรมการสร้างวรรณกรรมมักปรากฏคำว่า “สร้าง” และ “ผู้สร้าง”ซึ่งหมายรวมถึงผู้แต่ง ผู้เขียน ผู้คัดลอก หรือผู้ใช้ทุนทรัพย์จัดให้มีการแต่งหรือคัดลอกวรรณกรรม ส่วนคตินิยมในการสร้างวรรณกรรมกระทำเพื่ออุทิศเป็นพุทธบูชา ด้วยเชื่อว่ามีอานิสงส์เหนือกว่าการสร้างโลกียทรัพย์ เพราะเป็นทุนและทางให้เกิดปิติสุข

 

แนวความคิดที่ผู้แต่งสื่อผ่านวรรณกรรมมาจากหลายทาง ได้แก่ การผ่องถ่ายมาจากวัฒนธรรมอินเดีย อันเนื่องด้วยศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธมาจากแนวความคิดและคตินิยมที่ได้รับจากเมืองอันเป็นศูนย์กลางการปกครอง หรือราชธานี และแนวความคิดที่เกิดขึ้นและสั่งสมจากประสบการณ์และที่เกิดขึ้นภายในท้องถิ่นของผู้แต่ง

 

ในส่วนของผู้สร้างวรรณกรรม วรรณกรรมทักษิณรุ่นเก่าเกือบทั้งหมดมิได้ปรากฏว่าใครคือผู้แต่ง และแต่งในสมัยใด ดูเหมือนผู้แต่งจงใจไม่บอก แต่มักบอกชื่อผู้สร้างวรรณกรรมไว้ พร้อมกับถ้อยคำ “นิพพานํปจฺจโย โหมิ” อันบ่งบอกว่าหวังนิพพานหรือความสุขใจ ความสงบเย็นจากวิทยาทานที่สร้างขึ้น ส่วนวรรณกรรมทักษิณยุคการพิมพ์แพร่หลายมักบอกชื่อผู้แต่งไว้ชัดเจน ผู้แต่งบางคนยังคงสร้างหนังสือตามจุดประสงค์เดิม คือ เป็นวิทยาทาน แต่บางคนสร้างขึ้นเพื่อหารายได้และใช้เป็นทุนทรัพย์ในการพิมพ์วรรณกรรมเผยแพร่

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วรรณกรรมทักษิณศึกษา: อดีต ปัจจุบัน อนาคต" ระหว่างวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2560 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรุงเทพฯ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหลักสูตรสาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี)