วรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับละครชาวบ้านภาคใต้: สารัตถะและการสืบทอด

อาจารย์วินัย สุกใส 

 

อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

 

 

งานวิจัยเรื่อง วรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับละครชาวบ้านภาคใต้ : สารัตถะและการสืบทอด มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาความเกี่ยวข้องระหว่างวรรณกรรมพื้นบ้านกับละครภาคใต้ 3 ประเภท (2) ศึกษาลักษณะและสารัตถะของวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับละครชาวบ้านภาคใต้  (3) ศึกษาวิธีการสืบทอดวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับละครชาวบ้านภาคใต้ และ (4) ศึกษาการปรับเปลี่ยนบทบาทของวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับละครชาวบ้าน และแนวทางในการอนุรักษ์และส่งเสริม  โดยศึกษาจากตัวบทวรรณกรรมที่ใช้ในการแสดงละครชาวบ้านกลุ่มไทยพุทธ 3 ชนิด คือ หนังตะลุง  โนรา และลิเกป่า ใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ และนำเสนอผลการศึกษาด้วยวิธีพรรณนาวิเคราะห์

 

ผลการวิจัยพบว่า ในด้านความเกี่ยวข้องระหว่างวรรณกรรมกับละครพื้นบ้าน ตัวบทวรรณกรรมเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ละครใช้ในการแสดง  มีทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรและมุขปาฐะที่เป็นตัวบทเก่าและสร้างสรรค์ขึ้นใหม่แนว   สัจนิยม เพื่อปรับใช้ในการแสดงประกอบพิธีกรรม การแสดงเพื่อความบันเทิง และใช้เป็นตำรากลอนของละครชาวบ้าน โดยการปรับใช้โครงเรื่อง การปรับใช้อนุภาคของเรื่องและการปรับใช้ตัวละคร  ตลอดจนการนำตัวบทเก่ามาใช้เฉพาะกรณี  ในประเด็นของสารัตถะของวรรณกรรม สารัตถะที่เด่นมาก คือ สารัตถะที่เกี่ยวกับโลกและจักรวาลที่แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาในการประสมประสานความคิดลัทธิฮินดู พุทธศาสนา และความเชื่อตั้งเดิม สารัตถะเกี่ยวกับระบบทางสังคม สารัตถะเกี่ยวกับระบบคุณธรรมและจริยธรรมซึ่งมีที่มาจากคำสอนทางพุทธศาสนา และสารัตถะเกี่ยวกับกลวิธีสร้างสุนทรียรส  ในด้านการสืบทอดวรรณกรรมละครของชาวบ้าน พบว่า วัฒนธรรมการเรียนรู้และการสืบทอดวรรณกรรมของศิลปินมี 3 แบบ คือ แนวจารีตที่ยึดถือปฏิบัติมาแต่อดีต แนวครูพักลักจำ และแนวสมัยนิยมอันได้แก่การเรียนรู้ในระบบการศึกษาสมัยใหม่ มีสืบทอดเนื้อหาของวรรณกรรมโดยการคงต้นแบบเดิม ปรับปรนตามเงื่อนไขการใช้ การสร้างใหม่โดยใช้เนื้อเรื่องหรืออนุภาคจากวรรณกรรมเก่า ตลอดจนการสร้างแนวคิดจินตนาการ  ในส่วนบทบาทและความเปลี่ยนแปลงของวรรณกรรมละครชาวบ้านและแนวทางในการอนุรักษ์และส่งเสริม พบว่าละครชาวบ้านมีบทบาทในวิถีชีวิตของชาวใต้ในด้านของการแสดงเพื่อประกอบพิธีกรรม การแสดงเพื่อความบันเทิง การอบรมคุณธรรมจริยธรรม และการเผยแพร่ความรู้และข่าวสารต่าง ๆ โดยบทบาทเหล่านี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่บทบาทสำคัญที่ยังคงอยู่ตลอดมาคือ บทบาทในด้านของการแสดงประกอบพิธีกรรม ในส่วนของแนวทางในการอนุรักษ์และส่งเสริม มีทัศนะที่แตกต่างกันเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ คือ กลุ่มที่มีทัศนะเชิงอนุรักษ์เห็นว่า ละครพื้นบ้านเป็นศิลปะการแสดงที่จะต้องมีการอนุรักษ์รูปแบบเก่าไว้ให้มากที่สุด กับกลุ่มที่มีทัศนะว่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่ก็ต้องรักษาอัตลักษณ์ของหนังตะลุง โนรา และลิเกป่า เอาไว้

 

*บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับละครชาวบ้านภาคใต้: สารัตถะและการสืบทอด ในชุดโครงการวรรณกรรมทักษิณ: สารัตถะและการสืบทอด ภายใต้โครงการการพัฒนาทุนทางสังคมภาคใต้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ผู้วิจัย: รองศาสตราจารย์อุดม หนูทอง  วินัย สุกใส  และ สมใจ สมคิด

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วรรณกรรมทักษิณศึกษา: อดีต ปัจจุบัน อนาคต" ระหว่างวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2560 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรุงเทพฯ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหลักสูตรสาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี)