สถานภาพและการอนุรักษ์วรรณกรรมทักษิณชั้นปฐมภูมิ

จรัญ ทองวิไล

 

ผู้เชี่ยวชาญเอกสารโบราณ หอสมุดแห่งชาติกาญจนาภิเษก กรมศิลปากร

 

 

องค์ความรู้และภูมิปัญญาที่หลากหลายอันเป็นบันทึกแห่งบรรพชนผ่านสื่อกระบวนการคิด การเขียน และการมุ่งผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมเพื่อหล่อหลอมและขับเคลื่อนสังคมท้องถิ่นให้ดำเนินไปตามแนวทางที่ถูกที่ควรและบรรลุถึงจุดมุ่งหมายร่วมกันถือเป็นกระบวนการจัดการความรู้ที่ทรงคุณค่ายิ่งของบรรพชนซึ่งปรากฏในรูปของงานวรรณกรรมท้องถิ่นประเภทต่าง ๆ คือ เอกสารตัวเขียน (หนังสือบุด) เอกสารตัวจาร (คัมภีร์ใบลาน) จารึก และสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ องค์ความรู้และภูมิปัญญาของบรรพชนดังกล่าวนี้จัดเป็นองค์ความรู้ชั้นปฐมภูมิที่สามารถใช้เป็นกุญแจไขข้อกังขาสงสัยในเรื่องราวบางสิ่งบางประการให้กระจ่างแจ้งได้ ทั้งยังสามารถใช้เป็นเอกสารหลักฐานเพื่อการอ้างอิง ศึกษาค้นคว้า วิเคราะห์ วิจัยได้อย่างหลากหลายและกว้างขวาง

 

ด้วยเนื้อหาสาระของงานวรรณกรรมที่ครอบคลุมองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีความหลากหลายในมิติแห่งศาสตร์แขนงต่าง ๆ เช่น ประวัติศาสตร์ อักษรศาสตร์ พุทธศาสตร์ ไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ และเวชศาสตร์ เป็นต้น ทั้งยังสะท้อนภาพลักษณ์ของสภาพสังคม ศิลปวัฒนธรรม ค่านิยม ขนบธรรมเนียมประเพณี และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในท้องถิ่นนั้น ๆ ออกมาได้อย่างชัดเจน ด้วยคุณลักษณะดังกล่าวจึงไม่น่าแปลกใจว่า ในช่วงระยะเวลากว่า 30 ปีมานี้ วรรณกรรมท้องถิ่นเหล่านี้จะถูกหยิบยกขึ้นมาศึกษาค้นคว้า กันอย่างกว้างขวางโดยนักวิชาการทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ตลอดถึงครู  อาจารย์ นิสิต นักศึกษา และประชาชนผู้สนใจทั่วไป

 

การศึกษาค้นคว้างานวรรณกรรมท้องถิ่นดังกล่าวนี้ในระยะแรก ๆ จะปรากฏในรูปของการศึกษาแบบปัจเจกชนเกือบทั้งสิ้น สาเหตุอาจสืบเนื่องมาจากการเข้าถึงแหล่งข้อมูลของงานวรรณกรรมเหล่านี้จะมีอยู่เฉพาะบุคคลบางกลุ่มเท่านั้น ต่อมาเมื่อการศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่นได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากบุคคล สถาบัน และองค์กรทั้งในและนอกวงการศึกษา การศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่นจึงขยายขอบเขตออกไปสู่วงกว้างไม่จำกัดเพียงแต่นิสิต นักศึกษา ครูอาจารย์และนักวิชาการในสถาบันการศึกษาต่างๆ เท่านั้น สถาบัน องค์กร และหน่วยงานต่างๆ ที่สำคัญของรัฐและเอกชนต่างก็พากันสนใจให้ความสำคัญและสนับสนุนส่งเสริมการศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่นอย่างจริงจัง มีการสนับสนุนเงินทุนในการศึกษาค้นคว้าโดยหน่วยงานหรือองค์กรของรัฐบ้าง หน่วยงานของเอกชนบ้าง การศึกษาค้นคว้าวรรณกรรมท้องถิ่นจึงค่อยขยายรูปแบบมาเป็นการศึกษาแบบคณะและกลุ่มบุคคลต่างๆ เช่น กลุ่มนักวิชาการในสถาบันการศึกษาต่างๆ และกลุ่มบุคคลผู้สนใจในการอนุรักษ์วรรณกรรมท้องถิ่นทั่วไป

 

แต่เนื่องด้วยว่า การบันทึกวรรณกรรมท้องถิ่นไว้เป็นลายลักษณ์นั้น จะบันทึกไว้ในสมุดรูปสี่เหลี่ยม ผืนผ้าขนาดย่อมซึ่งชาวใต้นิยมเรียกว่า บุด หรือ หนังสือบุด  หนังสือบุดเหล่านี้มีอายุและผ่านการใช้งานมาเป็นเวลายาวนานเฉลี่ยอายุตั้งแต่ 100 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่จึงมีสภาพชำรุดเสื่อมโทรมในลักษณะที่แตกต่างกัน เช่น ฉีกขาด เนื้อกระดาษขาดหาย เปื่อยยุ่ย กรอบ ปรุพรุน มีร่องรอยของแมลงและเชื้อรา ส่วนที่ยังมีสภาพดีอยู่ก็มีแนวโน้มว่า จะเสื่อมสภาพลงทุกขณะก่อนเวลาอันควร ถ้าไม่มีการจัดเก็บ จัดแสดง หรือให้บริการในลักษณะที่เหมาะสมถูกต้องตามหลักวิชาการ  ฉะนั้นการอนุรักษ์วรรณกรรมท้องถิ่นจึงเป็นการสืบทอดเจตนารมณ์ของบรรพชนผู้ที่ได้สรรค์สร้างองค์ความรู้เหล่านี้ไว้เพื่อให้เป็นมรดกของสังคมท้องถิ่นและประเทศชาติ การอนุรักษ์วรรณกรรมท้องถิ่นจึงควรจะกระทำควบคู่กันไปกับการศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง เพื่อให้มรดกของบรรพชนยังคงอยู่สืบไปตราบนานเท่านาน

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วรรณกรรมทักษิณศึกษา: อดีต ปัจจุบัน อนาคต" ระหว่างวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2560 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรุงเทพฯ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหลักสูตรสาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี)