หน่วยเสียงควบกล้ำ ว ในภาษาผู้ไท บ้านโนนสำราญ อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์

อาจารย์ธวัชชัย ดุลยสุจริต

 

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

 

 

ภาษาผู้ไทเป็นภาษาหนึ่งในตระกูลภาษาไท มีผู้พูดกระจายในหลายจังหวัดทางภาคอีสานตอนบน โดยเฉพาะจังหวัดมุดาหาร สกลนคร นครพนม และกาฬสินธุ์ แม้ว่าภาษาผู้ไทจะมีคำศัพท์และเสียงส่วนใหญ่ร่วมกันกับภาษาไทถิ่นอื่น เช่นคำศัพท์พื้นฐานในชีวิตประจำวัน และลักษณะของเสียงสระพยัญชนะ แต่ก็มีลักษณะเฉพาะที่น่าสังเกตหลายประการ เช่น การใช้เสียงสระเออ เทียบกับเสียงสระเอือ สระไอ และสระเออ ในถิ่นอื่น การใช้เสียงสระเอ เทียบกับเสียงสระเอีย สระเอในถิ่นอื่น เป็นต้น รวมทั้งการใช้คำเรียกญาติที่แตกต่างกับภาษาไทถิ่นอื่นด้วย นอกจากนี้ยังมีหน่วยเสียงพยัญชนะที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ นั่นคือเสียงพยัญชนะควบกล้ำ ว หรือเสียงปากกลม (palatalization)

 

จากการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง พบว่ามีการศึกษาหน่วยเสียงพยัญชนะควบกล้ำ ว ผู้ไทหลายถิ่นในภาคอีสาน ได้แก่ โซพิสัย นครพนม กุฉินารายณ์ โพนนาแก้ว หนองสูง วาริชภูมิ และพรรณานิคม พบหน่วยเสียงต่างๆ ได้แก่ /kw/, /khw/, /cw/, /ŋw/, /hw/, /sw/ บางถิ่นมีเพียง 2 หน่วยเสียง (โซ่พิสัย) บางถิ่นมีมากถึง 6 หน่วยเสียง (พรรณานิคม) งานวิจัยครั้งนี้ผู้ผู้วิจัยได้ศึกษาลักษณะของหน่วยเสียงควบกล้ำ ว ในภาษาผู้ไท บ้านโนนสำราญ พบว่ามีเสียงควบกล้ำ ว มากถึง 7 หน่วยเสียง โดยเพิ่มหน่วยเสียง /yw/ อีก 1 หน่วยเสียง

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "ความเชื่อ เรื่องเล่า ตำนาน กับชาติพันธุ์ในลุ่มน้ำโขง" ระหว่างวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ 2559 ณ หอประชุมมหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จังหวัดสกลนคร จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร)