“อักษรเลข”: รหัสลับในการสื่อสารโบราณกับการนำมาใช้ในวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ณัฐา วิพลชัย

 

อาจารย์ประจำหลักสูตรสาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

 

 

วรรณกรรมเป็นผลงานสร้างสรรค์ของคนในสังคม เป็นเสมือนกระจกที่สะท้อนให้เห็นภาพความรู้  ความคิด ค่านิยม และประสบการณ์ของมนุษย์ในสังคมแต่ละยุคสมัย เพราะผู้เขียนเป็นสมาชิกคนหนึ่งของสังคม ย่อมได้รับอิทธิพลของสังคมในการกำหนดแนวคิดและโลกทัศน์ ฉะนั้น วรรณกรรมจึงเป็นเสมือนหนึ่งจดหมายเหตุที่บันทึกเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงของสังคมอีกด้วย

 

กลวิธีการบันทึกเรื่องราวในวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ที่น่าสนใจรูปแบบหนึ่ง คือ การใช้อักษรเลขแทนอักษรในการบันทึกตำรายาแพทย์แผนไทย ตำราคำสอน และตำราพิธีกรรม ซึ่งผู้ที่สามารถอ่านแปลได้ จะต้องเป็นนักปราชญ์ ผู้รู้ หรือผู้ที่ศึกษาเล่าเรียนเกี่ยวกับอักษรเลข การใช้อักษรเลขแทนอักษรย่อมสะท้อนความรู้สึกของผู้เป็นเจ้าของตำราได้ว่า ไม่ต้องการให้ตำราของตนเป็นสาธารณ์ แต่ให้ผู้รู้เท่านั้นอ่านเข้าใจ อักษรเลขจึงถือเป็นรหัสลับในการสื่อสารโบราณที่ใช้กันเฉพาะกลุ่มชนนักปราชญ์

 

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นมาของอักษรเลข และการบันทึกอักษรเลขในวรรณกรรม ท้องถิ่นภาคใต้ ผลการศึกษาพบว่า ตำราอักษรเลขในประเทศไทย เริ่มปรากฏครั้งแรกในคัมภีร์ภาษาบาลีชื่อ "วชิรสารัตถสังคหะ" เนื้อหากล่าวถึงกลุ่มอักษรที่ใช้แทนตัวเลข ๑ – ๙ เรียกว่า นวสังขยา กลุ่มอักษรที่ใช้แทนตัวเลข ๑ – ๕ เรียกว่า ปัญจสังขยา คัมภีร์วชิรสารัตถสังคหะ มิได้กล่าวถึงตัวเลขที่ใช้แทนอักษรประเภทสระและวรรณยุกต์ ซึ่งต่างจากหนังสือจินดามณีที่ได้อธิบายการใช้อักษรเลขว่า มี 2 ชนิด คือ อักษรเลขที่ใช้แทนสระในการเขียนทั่วไปกับอักษรเลขที่ใช้แทนสระและวรรณยุกต์ในการแต่งฉันทลักษณ์ ต่อมาหนังสือปฐมมาลาได้อธิบายการใช้อักษรเลขที่ใช้ทั่วไป แตกต่างจากหนังสือจินดามณีเพียงเล็กน้อย คือ เลข ๔ ที่ใช้แทนสระ อิ กับ สระ อะ หนังสือจินดามณีและปฐมมาลา เรียกกลวิธีนี้ว่า "ฤๅษีแปลงสาร" เพื่อมิให้ผู้ถือสาร หรือคนทั่วไปอ่านสารที่ถือเข้าใจได้โดยง่าย

 

ส่วนอักษรเลขที่ใช้ในวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ ได้รับอิทธิพลมาจากหนังสือปฐมมาลามากกว่าจินดามณี แต่นักปราชญ์ท้องถิ่นภาคใต้รับอักษรเลขมาใช้ด้วยการดัดแปลงกฎเกณฑ์ให้แตกต่างไปจากเดิม จึงทำให้การใช้อักษรเลขในวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้แต่ละถิ่นไม่เป็นไปในระบบเดียวกัน เช่น วรรณกรรมท้องถิ่นจังหวัดพัทลุง ใช้อักษรเลขแทนทั้งสระและวรรณยุกต์ ซึ่งสร้างความสับสนมิใช่น้อย เนื่องจากอักษรเลขตัวเดียวกันใช้แทนวรรณยุกต์ได้หลายเสียง ต่างจากวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ใช้อักษรเลขแทนสระเท่านั้น ไม่มีอักษรเลขที่ใช้แทนวรรณยุกต์ ฉะนั้น การใช้อักษรเลขในวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ แม้ได้รับอิทธิพลข้อมูลมาจากแหล่งเดียวกัน คือ จินดามณีและปฐมมาลา แต่ต่างกันตามกฎอัตโนมติของนักปราชญ์แต่ละถิ่นกำหนดขึ้นนั่นเอง

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วรรณกรรมทักษิณศึกษา: อดีต ปัจจุบัน อนาคต" ระหว่างวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2560 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรุงเทพฯ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหลักสูตรสาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี)