อารักษ์บ้าน-อารักษ์เมืองในวัฒนธรรมชนชาติไท: พลัง และ พลวัต

ศาสตราจารย์ ดร.ศิราพร ณ ถลาง

 

เมธีวิจัยอาวุโส สกว.

 

 

ความเชื่อเกี่ยวกับผีอารักษ์เป็นความเชื่อดั้งเดิมของชนชาติไทและชาติพันธุ์ต่างๆ ในอุษาคเนย์   บทความนี้มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ ประการแรก เพื่อนำเสนอบทสังเคราะห์ลักษณะการดำรงอยู่และบทบาทของความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับผีอารักษ์ในสังคมไทยปัจจุบันจากกรณีศึกษา 2 กรณี คือ กรณีศึกษาความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับผีอารักษ์บ้านของชาวไทลื้อที่บ้านไม้ลุงขน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และ กรณีศึกษาความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับอารักษ์เมืองเชียงใหม่  ผลจากการสังเคราะห์ข้อค้นพบที่สอดคล้องกันจากทั้งสองกรณีศึกษาเป็นประเด็นเรื่องพลวัตและการผสมผสานทางความเชื่อและพิธีกรรมระหว่างความเชื่อเรื่องผีอารักษ์ของชาวไทลื้อกับชาวไทยวนล้านนา และระหว่างความเชื่อเรื่องผีอารักษ์กับพุทธศาสนา    นอกจากนั้น ทั้งสองกรณีศึกษายืนยันว่าความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับผีอารักษ์ยังคงมีบทบาททางจิตใจและบทบาททางสังคม  และประการที่ 2   บทความนี้นำเสนอบทอภิปรายเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องผีอารักษ์ของชนชาติไทกลุ่มต่างๆ ในฐานะความเชื่อดั้งเดิม ปรากฏการณ์ทางความเชื่อเรื่องผีอารักษ์ที่มีการผนวกรวมกับความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษและผีวีรบุรุษ และการใช้ผีอารักษ์ในฐานะเป็นสื่อแสดงอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ในบริบททางสังคมไทยในปัจจุบัน

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "พลังและพลวัตวัฒนธรรมล้านนา" วันที่ 30 มกราคม 2558 ณ โรงแรมเวียงลคอร จังหวัดลำปาง จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง)