เสวนาโต๊ะกลม “ศิลปาชีพกับผ้าทอในชนบทไทย : จากอดีตถึงปัจจุบัน”

วิทยากร

 

สุนา ศรีบุตรโคตร และ แสงเดือน จันทร์นวล

 

สมาชิกศิลปาชีพภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 

 

ผู้ดำเนินรายการ 

 

ดลยา เทียนทอง

 

สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมจัดตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  (นิยมเรียกทั่วไปว่า ‘ศิลปาชีพ’) ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2519   โดยมีวัตถุประสงค์ประการสำคัญเพื่อช่วยเหลือราษฎรที่มีความเดือดร้อนจากปัญหาการทำมาหากินด้วยการส่งเสริมหัตถกรรมพื้นบ้านเป็นอาชีพเสริมรายได้  อันเป็นไปตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมุ่งเน้นพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว  นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นที่ทรงมีต่อราษฎรผู้ยากไร้ในชนบทห่างไกล  ทั้งนี้ภายหลังการก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เป็นต้นมา  โครงการศิลปาชีพได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งแผ่ขยายไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสานได้เกิดโครงการศิลปาชีพต่างๆ มากมาย

 

ในบรรดาหัตถกรรมพื้นบ้านของภาคอีสาน  การทอผ้านับเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะและทรงคุณค่าซึ่งสืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษและอยู่คู่กับวิถีชีวิตในชนบทของภาคอีสานมาแต่โบราณ  ไม่ว่าจะเป็นการทอผ้าไหม ผ้าไหมมัดหมี่  ผ้าแพรวา หรือผ้าฝ้ายในลวดลายต่างๆ  ล้วนแล้วแต่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญทั้งสิ้น   ดังนั้น ในพื้นที่ชนบทของภาคอีสานจึงปรากฏโครงการศิลปาชีพเกี่ยวกับการทอผ้าเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังรวมถึงโครงการศิลปาชีพเกี่ยวกับการปลูกหม่อนและเลี้ยงไหม ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันอีกด้วย     กล่าวได้ว่านับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน โครงการศิลปาชีพเกี่ยวกับการทอผ้าในภาคอีสานได้มีพัฒนาการก้าวไกลในท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกประเทศ   ซึ่งส่งผลให้เกิดคุณูปการอันยิ่งใหญ่และนัยสำคัญต่อสังคมไทยในบริบทที่หลากหลายตามมา

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "ผ้าทอในวิถีชีวิตไทย-ไท" ระหว่างวันที่ 20-21 มิถุนายน 2556 ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชาออคิด  จังหวัดขอนแก่น จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม)