แนวคิดในการจัดการเรียนรู้วรรณคดีไทยระดับมัธยมศึกษา

อาจารย์ชวิน พงษ์ผจญ

 

อาจารย์ประจำสาขาวิชาการสอนภาษาไทย ภาควิชาหลักสูตรและการสอน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

การจัดการเรียนรู้วรรณคดีและวรรณกรรมไทยในระดับมัธยมศึกษาโดยทั่วไปมุ่งเน้นให้ผู้เรียนเข้าใจวรรณคดีใน 2 ลักษณะ คือ เข้าใจคุณค่าทางด้านวรรณศิลป์และเข้าใจคุณค่าทางด้านสังคมวัฒนธรรม การจัดการเรียนรู้ที่เน้นการท่องจำเป็นหลักย่อมทำให้ผู้เรียนไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้ แนวคิดทฤษฎีที่น่าสนใจในการจัดการเรียนรู้วรรณคดีที่เหมาะสมกับระบบการศึกษาของไทย ได้แก่ 1) การเรียนรู้วรรณคดีไทยตามทฤษฎีการตอบสนองของผู้อ่าน (Reader Response Theory) ผ่านสื่อบันเทิงประเภทต่าง ๆ ซึ่งช่วยพัฒนาความเข้าใจในการอ่านวรรณคดีโดยใช้การแสดงความคิดเห็นและความรู้สึกของตนต่อวรรณคดีผ่านกระบวนการเชื่อมโยงตัวบทวรรณคดีกับประสบการณ์ชีวิตและสื่อบันเทิง อาทิ เพลง ละคร และภาพยนตร์ และ 2) การจัดการเรียนรู้วรรณคดีไทยตามรูปแบบ PERMA Model (Positive Emotions, Engagement, Relation- ships, Meaning และ Accomplishment)

 

ภายใต้แนวคิดจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) ซึ่งช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้เรียนผ่านการศึกษาและทำความเข้าใจลักษณะเด่นและจุดแข็ง (Character strength) ของชีวิตตัวละครในวรรณคดีเป็นหลัก

 

การบรรยายในหัวข้อนี้จะช่วยแนะนำและนำเสนอตัวอย่างการจัดการเรียนการสอนด้วยแนวคิดทั้งสองวิธีข้างต้น เพื่อแสดงให้เห็นว่าวิธีการเหล่านี้ช่วยให้ผู้เรียนได้ใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์ในการเรียนวรรณคดีมากยิ่งขึ้น นำไปสู่ความเข้าใจวรรณคดีในฐานะบทเรียนและภาพสะท้อนประสบการณ์ชีวิตมนุษย์ อันเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญในการอ่านวรรณคดี อีกทั้งผู้เรียนยังได้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างวรรณคดีกับชีวิตของตนเองและโลกปัจจุบัน ซึ่งช่วยให้การเรียนรู้วรรณคดีแต่ละเรื่องพัฒนาเป็นการเรียนรู้ที่มีค่าและความหมาย (Meaningful Learning) ต่อผู้เรียน

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วรรณกรรมทักษิณศึกษา: อดีต ปัจจุบัน อนาคต" ระหว่างวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2560 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรุงเทพฯ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหลักสูตรสาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี)