แนวทางการเรียนการสอนวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้สู่การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

ผู้ช่วยศาสตราจารย์พรทิพย์ วนรัฐิกาล

 

อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

 

 

บทความนี้นำเสนอเรื่องแนวทางการเรียนการสอนวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้สู่การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งการจัดการเรียนการสอนนั้นต้องมีความยืดหยุ่น หลากหลาย และตอบสนองความต้องการของผู้เรียนเป็นหลักสำคัญ การจัดการเรียนการสอนวรรณกรรมท้องถิ่น ภาคใต้ นั้น ควรคำนึงถึงหลักสำคัญ 3 ประการ คือ

 

1. การจัดการองค์ความรู้ให้เหมาะแก่วัย โดยจำแนกวรรณกรรมท้องถิ่นเพื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสมแก่วัย เช่น ระดับอนุบาล จนถึงระดับมหาวิทยาลัย

 

2. การสร้างองค์ความรู้ให้เข้มแข็ง ด้วยวิธีการส่งเสริมให้มีผู้รู้จริง แล้วสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ได้อย่างเข้าใจและถูกต้อง องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรมท้องถิ่นนั้น ย่อมสัมพันธ์กับวิถีชีวิต สภาพสังคม ประเพณี และวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่นภาคใต้ หากเข้าใจอย่างถ่องแท้ย่อมทำให้องค์ความรู้นั้นยั่งยืน 

 

3. การเชื่อมโยงองค์ความรู้สู่ศาสตร์อื่นๆ เป็นการวิเคราะห์ สังเคราะห์ องค์ความรู้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งสอดคล้องกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 อันเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้และสร้างสรรค์ ซึ่งองค์ความรู้ด้านวรรณกรรมท้องถิ่นสามารถจะพัฒนาบุคคลให้เป็นผู้รู้ที่เข้าใจคน เข้าใจสังคม และสามารถปรับตัวได้ในสังคมพหุวัฒนธรรมในศตวรรษที่ 21

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วรรณกรรมทักษิณศึกษา: อดีต ปัจจุบัน อนาคต" ระหว่างวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2560 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรุงเทพฯ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหลักสูตรสาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี)