แพรไหมมังกร: ความเป็นจีนในราชสำนักลาวหลวงพระบาง

รองศาสตราจารย์ ดร.ปฐม หงษ์สุวรรณ

 

สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

 

บทความวิจัยฉบับนี้มุ่งศึกษาการนำเสนอภาพความเป็นจีนผ่านข้อมูลทางวัฒนธรรมของชาวลาวประเภทผ้าแพรไหมของจีนที่มีปรากฏอยู่ในราชสำนักหลวงพระบาง โดยมุ่งมองความหมายเชิงสัญลักษณ์ของผืนผ้าทอของจีนว่าเป็นเสมือนเครื่องมือในการสื่อสารให้กลุ่มคนอื่นได้รับรู้และเข้าใจ ทั้งนี้ประเภทผ้าแพรไหมจีนที่นำมาศึกษาในครั้งนี้ประกอบด้วยผ้าทอที่เป็นเครื่องแต่งกายและเครื่องใช้ของเจ้ามหาชีวิต พระมเหสี พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนาง ตลอดจนชนชั้นผู้ปกครองในราชสำนักของลาวหลวงพระบางในอดีต ซึ่งผู้วิจัยค้นคว้าจากข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาจากข้อมูลสนามและเอกสารต่างๆ อาทิ พิพิธภัณฑ์เมืองหลวงพระบาง (หอพระราชวังเก่า) หนังสือภาษาไทย ภาษาลาว ภาษาอังกฤษ ตลอดจนข้อมูลจากเว็บไซต์ที่มีการนำเสนอให้เห็นภาพของผ้าทอของกลุ่มราชสำนักลาวหลวงพระบาง

 

ผลการวิจัยพบว่า การใช้ผ้าแพรจีนที่นำมาเป็นเครื่องนุ่งห่มของกลุ่มชนชั้นสูงในราชสำนักหลวงพระบางมีทั้งกลุ่มเจ้านายฝ่ายชาย และกลุ่มเจ้านายฝ่ายหญิง นอกจากนี้ ยังมีการนำผ้าแพรจีนมาแปรรูปเป็นข้าวของเครื่องใช้ในราชสำนัก สิ่งที่สำคัญที่ผู้วิจัยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้ผ้าแพรจีนที่ใช้ในราชสำนักหลวงพระบาง คือ การแสดงให้เห็นถึงอำนาจบารมี ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ ตลอดจนยังใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างอุดมการณ์ทางการเมืองตามวิถีราชสำนักหลวงพระบาง ซึ่งแพรไหมจีนนั้นได้แสดงให้เห็นการเป็นสัญลักษณ์แสดงฐานะ (Status Symbol) ผ่านการเทคนิคสร้างสรรค์ผืนผ้า วัสดุ สีสัน และลวดลายซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับเรื่องราวของชนชั้น เศรษฐกิจ การเมือง ศาสนา เพศ ชาติพันธุ์ในวิธีคิดของคนลาวได้อย่างน่าสนใจ

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "ผ้าทอในวิถีชีวิตไทย-ไท" ระหว่างวันที่ 20-21 มิถุนายน 2556 ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชาออคิด  จังหวัดขอนแก่น จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม)