ความสัมพันธ์ระหว่างชาดกกับวรรณกรรมการทำนายในวัฒนธรรมล้านนา

อาจารย์เชิดชาติ หิรัญโร

 

สาขาวิชาภาษาไทย สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

 

 

คนล้านนาได้คิดค้นระบบกลวิธีเกี่ยวกับกาลเวลาสำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการดำรงชีวิตทั้งในชีวิตประจำวัน ในพิธีกรรมความเชื่อ หรือแม้แต่ในยามภาวะวิกฤตต่างๆของชุมชนและสังคมโดยรวม  ระบบกลวิธีดังกล่าวเป็นการตั้งข้อสังเกตจากการเรียนรู้สิ่งต่างๆ และธรรมชาติรอบตัว แล้วนำมาปรับให้เข้ากับพื้นฐานระบบความเชื่อของชุมชนและพิธีกรรมสำคัญต่างๆ ในชีวิต  กลายเป็นเครื่องมือ หรือ กลไกที่ใช้รองรับความต้องการในการป้องกันปัญหาและการแก้ไขปัญหาต่างๆในชีวิต  โดยเฉพาะระบบความเชื่อเกี่ยวกับการทำนาย การพยากรณ์ และเรื่องฤกษ์ยามซึ่งปรากฏอยู่ในตำราต่างๆ มากมาย เช่น ตำราพรหมชาติ และปักขทืนล้านนา หรือ ปฏิทินจันทรคติของชาวล้านนา เป็นต้น

 

ในวรรณกรรมเกี่ยวกับการทำนายของล้านนาดังกล่าว มีสิ่งที่น่าสังเกตและน่าสนใจบางประการกล่าวคือ วรรณกรรมกลุ่มดังกล่าว ปรากฏลักษณะวิธีการทำนายหรือการพยากรณ์บางประการที่ใช้การอ้างอิงอนุภาคบางส่วนจากชาดกในพุทธศาสนามากำกับ หรือใช้เป็นเครื่องมือในการอธิบายมูลเหตุของฤกษ์ยามและสร้างความน่าเชื่อถือให้กับคำพยากรณ์ ด้วยเหตุนี้เองมนุษย์ได้นำพาเอาความคิดเรื่องกาลเวลาและพิธีกรรมมาผูกเชื่อมโยงกันไว้อย่างเป็นระบบ เพื่อจุดมุ่งหมายในการสร้างความเป็นระบบระเบียบให้กับสังคม และชุมชน การประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อและศาสนาของแต่ละสังคม จึงเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกาลเวลาและพิธีกรรมในสังคมมนุษย์เอาไว้ด้วยกันภายใต้ความคิดเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์

 

ลักษณะดังกล่าวข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า ความคิดเรื่องกาลเวลากับระบบวัฒนธรรมการทำนาย การพยากรณ์ และความเชื่อเรื่องฤกษ์ยามในวัฒนธรรมล้านนานั้นมีจุดเด่นในเรื่องของการกำหนดมาตรฐานของสังคมเกี่ยวกับเรื่องกาลเทศะ (Time and Space) ที่เน้นให้คนในสังคมและชุมชนได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันเป็นระบบอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการกำหนดแนวทางเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตในสังคมวัฒนธรรมเกษตรกรรมที่ผูกพันอยู่กับการพึ่งพาธรรมชาติและอำนาจเหนือธรรมชาติอย่างมีระเบียบแบบแผน

 

สิ่งที่น่าสนใจประการหนึ่งที่ได้ค้นพบจากการศึกษา ก็คือ วรรณกรรมการทำนายของล้านนากลุ่มนี้ แม้ว่าจะมีลักษณะเป็นภาพตัวแทนของระบบความเชื่อ การทำนายและพิธีกรรมที่อิงอยู่กับระบบความเชื่อดั้งเดิมแบบผีและวิญญาณนิยม (animism) ระบบความเชื่อเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติ (supernaturalism) และความเชื่อทางโหราศาสตร์ตามแบบศาสนาพราหมณ์ฮินดูก็ตาม แต่กระนั้นก็ยังปรากฏลักษณะของความพยายามในการผสมผสานและประนีประนอมกันระหว่าง “สิ่งเดิม” ซึ่งก็คือ ความเชื่อดั้งเดิม (ผี วิญญาณนิยม อำนาจเหนือธรรมชาติ และโหราศาสตร์) กับ “สิ่งใหม่” คือ แนวคิดและความในพุทธศาสนาด้วย ด้วยการนำเอาอนุภาคบางอย่าง หรือ เนื้อความบางส่วนที่ปรากฏอยู่ในชาดกในพุทธศาสนามาผนวกเข้ากับระบบความเชื่อเรื่องวันเดือนปีและฤกษ์ยามเวลามงคลต่างๆ ในลักษณะของการผสานกันทางศาสนา

 

การสร้างชุดสัญลักษณ์ต่างๆ ผ่านอนุภาคและตัวละครในชาดกพุทธศาสนาในวรรณกรรมการทำนายของชาวล้านนานั้น จึงมีความสอดคล้องกับลักษณะดังกล่าวข้างต้น โดยเฉพาะการนำเอาความคิดเรื่องบุญบารมี ความคิดเรื่องกรรม ความคิดเรื่องสังสารวัฏ ผนวกเข้ากับคติความเชื่อเรื่องการทำนาย การพยากรณ์ และความเชื่อเรื่องฤกษ์ยามนั้น นับได้ว่าเป็นระบบสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่สะท้อนวิธีคิดและความพยายามค้นหาคำตอบเกี่ยวกับชีวิตและความพยายามในการสร้างความถูกต้องและความจริงแท้สำหรับความคิดเรื่องบุญ บารมี กรรมและ สังสารวัฏในระบบวิธีคิดของชาวล้านนา

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วัฒนธรรมชาดกในสังคมไทย" ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน–1 กรกฎาคม 2554 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ คณะมนุษยศาสตร์ และสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)