จาก “ชูชก” ถึง “พ่อปู่”: พลวัตของตัวละครชาดกในวิถีชีวิตของคนไทยร่วมสมัย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปฐม หงษ์สุวรรณ

 

ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

 

บทความนี้มุ่งศึกษาการประดิษฐ์สร้างความหมายใหม่ว่าด้วย “ชูชก” ซึ่งเป็นตัวละครตัวหนึ่งใน เวสสันดรชาดก ที่ปรากฏในข้อมูลทางวัฒนธรรมประเภทต่างๆ ทั้งที่เป็นกลุ่มเรื่องเล่า เครื่องรางของขลัง และสัญลักษณ์วัตถุอื่นๆ รวมไปถึงประเพณีความเชื่อในวิถีชีวิตชาวบ้าน นั่นคือ “ประเพณีแห่ตาชูชก” ของชาว อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นพิธีกรรมในรอบปีที่สืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านาน

 

ผลการศึกษาพบว่า ประดิษฐกรรมทางวัฒนธรรมว่าด้วย “ชูชก” ในบริบทของสังคมไทยสมัยใหม่นั้นมีหลากหลายลักษณะ ซึ่งสะท้อนให้เห็นการสืบทอด (Descend) การตัดตอน (Reduce) การเพิ่มเติม (Add) และการเปลี่ยนแปลง (Change) ความหมายใหม่เกี่ยวกับ “ชูชก” ที่มักถูกนำเสนอผ่านบทบาทของความเป็น “เทพเจ้า” สัญลักษณ์ของความมีทรัพย์สินเงินทองที่เชื่อมโยงกับพฤติกรรมในชาดก คตินิยมว่าด้วยการประหยัดอดออม เรื่องเพศและสุขภาพ รวมถึงกระบวนทัศน์และบทบาทในวิถีชีวิตปัจจุบันภายใต้เงื่อนไขของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม จึงกล่าวได้ว่า ปรากฏการณ์ของการสร้างความหมายใหม่เกี่ยวกับชูชกที่อยู่ในการรับรู้และเข้าใจของคนไทยนั้น มุ่งตอบสนองความต้องการในเรื่องทางโลกเพื่อสื่อให้เห็นถึงความหมาย ความศักดิ์สิทธิ์ อำนาจ สีสัน และปาฏิหาริย์ของ “ชูชก” ทั้งนี้ การสร้างความหมายใหม่ให้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติและมีอำนาจผ่านตัวตนของความเป็น “พ่อปู่ชูชก  เจ้าปู่ชูชก  ตาปู่ชูชก หรือตาชูชก” แนวความคิดดังกล่าวล้วนเกิดจากการตีความหมายใหม่ผ่านช่องว่างความสัมพันธ์ทางความเชื่อระหว่าง “คำสอนแบบพุทธศาสนาเชิงปรัชญา” (Buddhism) กับความเชื่อดั้งเดิม นั่นคือการนับถือใน “อำนาจเหนือธรรมชาติและสิ่งศักดิ์สิทธิ์” (Supernatural Being) ให้มีการเชื่อมโยงผูกพันกัน อันเป็นความพยายามของกลุ่มคนที่ต้องการบูรณาการทางความเชื่อที่มีความแตกต่างหลากหลายให้อยู่ร่วมกันภายใต้กระแสของความเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วัฒนธรรมชาดกในสังคมไทย" ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน–1 กรกฎาคม 2554 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ คณะมนุษยศาสตร์ และสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)