ธรรมค่าว: กลวิธีการเล่านิทานชาดกในล้านนา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิโรจน์  อินทนนท์

 

สาขาวิชาปรัชญาและศาสนา

คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

 

ค่าวเป็นชื่อลักษณะการเรียบเรียงถ้อยคำให้เป็นระเบียบเหมือนห่วงโซ่ คือมีสัมผัสคล้องจองกันไป เป็นคำประพันธ์ประเภทหนึ่งใน 5 ประเภทของวรรณกรรมร้อยกรองของล้านนา ค่าวแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ ค่าวธรรม ค่าวซอ  ค่าวใช้ และค่าวร่ำ หรือ ค่าวฮ่ำ

 

ค่าวธรรมหรือที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่าธรรมค่าว เป็นบทประพันธ์ที่แต่งด้วยฉันทลักษณ์ค่าว มักเป็นเรื่องชาดก มีลักษณะละม้ายกับนิทานคำกลอนประเภทจักร ๆ วงศ์ ๆ ที่เรียกว่าธรรมค่าวนั้นเพราะเป็นการนำเอาเรื่องธรรมหรือชาดกมาแต่งขึ้น ธรรมค่าวจะแต่งด้วยร้อยแก้วสำนวนเทศน์ หรือแต่งเป็นร้อยกรองคล้ายร่ายยาวหรือร่ายโบราณก็ได้ ธรรมค่าวถูกแต่งขึ้นเพื่อให้พระภิกษุ สามเณรใช้เทศนาให้ชาวบ้านฟัง ทุกวันพระ ในฤดูกาลเข้าพรรษา มีเนื้อหา ลีลา การดำเนินเรื่องทำนองเดียวกับชาดก คือ มีการตั้งบทพระคาถาบาลีแล้วขยายความเป็นพรรณนาโวหาร หรือเทศนาโวหารแล้วแต่กรณี แต่เดิมรูปแบบคำประพันธ์เป็นร้อยแก้วที่ไม่กำหนดจำนวนคำในวรรคมีการส่งสัมผัสของพยางค์สุดท้ายของวรรคแรกไปสู่พยางค์ที่ 3 4 หรือ 5 ของวรรคถัดไป แล้วพัฒนามาส่งสัมผัสแบบร่ายอย่างหลวม ๆ จนมีลักษณะเป็นร่ายยาวหรือร่ายโบราณ ธรรมค่าวที่มีลักษณะเป็นร้อยกรองนั้นจะมีฉันทลักษณ์เป็นของตัวเอง แต่มีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน คือแบบ  “พลูไต่ค้างช้างเทียวคอง” โดยเรียกการแต่งว่า “สามตัวเหลียว เจ็ดตัวเทียว บาทหลัง บาทหน้า” และแบบ “ช้างข้ามโท่งหงส์ย่างบาท” โดยเรียกการแต่งว่า “ห้าตัวเหลียว เจ็ดตัวเทียว บาทหลัง บาทหน้า” การนำธรรมค่าวไปแสดงที่เรียกว่า การเทศน์ หรือ เทศนา  จะมีท่วงทำนองในการเทศน์อันจะเพิ่มความไพเราะและชวนฟังเข้าไปอีก ทำนองการเทศน์หรือที่เรียกว่า ระบำการเทศน์ในล้านนามี 2 แบบ คือ แบบธรรมวัตรและแบบมหาชาติ แบบธรรมวัตรคือระบำหรือทำนองตามปกติทั่วไป ที่จะใช้เทศน์ในกิจนิมนต์หรือเทศน์ในช่วงเข้าพรรษาแบ่งได้ 4 แบบ คือ น้ำดั้นท่อรินคำ ขี่ม้าชมเมือง ม้าย่ำไฟ ฝนแสนห่า ส่วนแบบมหาชาตินั้นก็แบ่งได้ 4 แบบเช่นเดียวกัน คือ  หมาไต่คันนา กวางเดินดง น้ำดั้นท่อ แม่ของ(โขง)นองบน นอกจากนี้ ก็ยังมีทำนองหรือระบำประจำเมือง เช่น น้ำตกตาด และพร้าวไกวใบ ของเมืองลำพูน-เชียงใหม่ มะนาวล่องของ(โขง) ของเมืองเชียงแสน-เชียงราย ภู่ชมดวง ของเมืองลำปาง เป็นต้น

 

ธรรมค่าวเป็นพัฒนาการประการหนึ่งของภูมิปัญญาล้านนาที่นำฉันทลักษณ์ค่าวมาแต่งประพันธ์เรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศาสนาทั้งด้านหลักคำสอนและประวัติในอดีตชาติของพระพุทธเจ้าขณะที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีเพื่อเป็นพระพุทธเจ้าอยู่เพื่อใช้เทศนาสั่งสอนประชาชนให้มีความรู้ทางพุทธศาสนา อันเป็นการรังสรรค์สังคมให้มีความสงบสุขด้วยรสธรรมของพระพุทธเจ้า ไม่เพียงการแต่งการประพันธ์ให้มีฉันทลักษณ์แบบค่าวดังกล่าวเท่านั้น ธรรมค่าวยังมีท่วงทำนองหรือระบำในการเทศนาเพื่อให้เกิดความไพเราะก่อความศรัทธาความเลื่อมใสและน่าติดตามให้แก่ผู้ฟังอีกด้วย

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วัฒนธรรมชาดกในสังคมไทย" ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน–1 กรกฎาคม 2554 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ คณะมนุษยศาสตร์ และสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)