พระมหากษัตริย์ในอุดมคติ: ศึกษาจากอรรถกถาชาดกและปัญญาสชาดก

รองศาสตราจารย์ ดร. สุปาณี พัดทอง

 

ภาควิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

การศึกษาอรรถกถาชาดกและปัญญาสชาดก ได้เลือกศึกษาชาดกเรื่องที่พระโพธิสัตว์เป็นกษัตริย์และปรากฏบทบาทในฐานะผู้ปกครอง  รวมทั้งศึกษาชาดกเรื่องที่พระโพธิสัตว์ไม่ได้เป็นกษัตริย์แต่ปรากฏบทบาทเด่นในฐานะผู้ปกครอง หรือได้แสดงธรรมะตลอดจนแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ปกครองแก่พระมหากษัตริย์ ผลการศึกษาทำให้เห็นภาพของพระมหากษัตริย์หรือผู้ปกครองในอุดมคติทางพระพุทธศาสนาอย่างเด่นชัดว่า พระมหากษัตริย์ในอุดมคติทางพุทธศาสนา คือ “ธรรมราชา” ผู้ทรงดำรงมั่นในราชธรรมและธรรมะของความเป็นมนุษย์ หลักธรรมสำคัญที่ทรงปฏิบัติ ได้แก่ ทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตร ราชสังคหวัตถุ ทรงดำรงในกุศลกรรมบถ รักษาศีล ละเว้นอคติ นอกจากนี้ยังทรงเปี่ยมด้วยพระบุญญาบารมี มีพระสติปัญญาปรีชาสามารถในการปกครอง ทรงวินิจฉัยคดีด้วยความยุติธรรม ทรงเสียสละบำเพ็ญทานให้ความสงเคราะห์แก่พสกนิกรด้วยพระเมตตาประดุจบิดามารดาอุ้มชูบุตร ทรงมีพระราชจริยาวัตรที่ดีงามเป็นแบบอย่างทางความประพฤติ ทรงสั่งสอนอบรมแนะแนวทางแห่งความดีแก่ราษฎรและมหาชนทุกหมู่เหล่า ทรงใช้ธรรมพิชิตศัตรูผู้คิดร้ายทั้งยังน้อมนำให้ทำความดีละเว้นความชั่ว นำพาให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขในบ้านเมืองและพสกนิกร ทรงได้รับการเทิดพระเกียรติอย่างยอดยิ่ง และทรงเป็นแบบอย่างของพระมหากษัตริย์หรือผู้ปกครองที่ดีตราบจนปัจจุบัน

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วัฒนธรรมชาดกในสังคมไทย" ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน–1 กรกฎาคม 2554 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ คณะมนุษยศาสตร์ และสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)