พินิจเชียงใหม่ปัณณาสชาดก

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ประคอง นิมมานเหมินท์

 

ราชบัณฑิต

 

 

ปัญญาสชาดก นอกจากแสดงให้เห็นวัฒนธรรมการสร้างสรรค์วรรณกรรมทางพุทธศาสนาประเภทหนึ่งในล้านนาแล้ว ยังแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของชาวพุทธที่อยู่ในดินแดนใกล้เคียงกัน  เชียงใหม่ปัณณาสชาดก หมายถึงปัญญาสชาดกฉบับภาษาบาลีอักษรพม่า ฉบับที่ผู้เขียนศึกษาเป็นผลงานแปลเป็นภาษาไทยของข้าราชการประจำกองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร และกรมศิลปากรจัดพิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2541 ปัญญาสชาดกชุดนี้มีจำนวนชาดก 50 เรื่อง ชื่อชาดกส่วนใหญ่ตรงกับที่ปรากฏในคัมภีร์ปิฏกมาลา เมื่อเทียบกับปัญญาสชาดกฉบับหอสมุดแห่งชาติแล้วพบว่า ชาดกบางเรื่องมีรายละเอียดต่างไปจากฉบับหอสมุดแห่งชาติ และรายละเอียดที่ต่างกันบางประเด็นเป็นหลักฐานให้ทราบถึงชื่อตัวละครและชื่อชาดกที่ถูกต้อง  ชาดกในเชียงใหม่ปัณณาสชาดกไม่ปรากฏในปัญญาสชาดกฉบับหอสมุดแห่งชาติถึง 14 เรื่อง ชาดก 14 เรื่องนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อชี้แนะให้เห็นความสำคัญของการนับถือพระรัตนตรัยอย่างมั่นคง การประพฤติปฏิบัติตนในฐานะพุทธศาสนิกชนที่ดี ได้แก่ การรักษาศีล การฟังธรรมเทศนา การบำเพ็ญทาน การปฏิบัติต่อศาสนสถาน การถวายดอกไม้ ธูปเทียนและธงเป็นเครื่องสักการะพระรัตนตรัย เป็นต้น แสดงให้เห็นภูมิปัญญาของพระสงฆ์ในล้านนาสมัยก่อนที่ใช้กลวิธีในการสร้างสรรค์วรรณกรรมเพื่อเผยแผ่พระศาสนา และเป็นเครื่องชี้แนะให้ประชาชนประพฤติปฏิบัติตนตามคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอันจะนำไปสู่ความสงบสุขของสังคม 

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วัฒนธรรมชาดกในสังคมไทย" ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน–1 กรกฎาคม 2554 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ คณะมนุษยศาสตร์ และสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)