รายงานสรุป (การประชุมวิชาการระดับชาติ – วัฒนธรรมชาดกในสังคมไทย)

วัฒนธรรมชาดกนั้นกล่าวได้ว่ามีบทบาทสำคัญต่อสังคมพุทธศาสนาไทย ดังจะเห็นได้จากประเพณีการสวดและเทศน์มหาชาติ เมื่อมีการนำชาดกมาสร้างสรรค์ในรูปแบบต่างๆ เช่น เป็นบทละคร นิทาน การ์ตูน นอกจากนี้ชาดกยังได้รับการถ่ายทอดผ่านศิลปะหลายแขนงอีกด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกและทรงสนพระราชหฤทัยในวรรณกรรมพุทธศาสนา ทรงนำมหาชนกชาดกอันมีที่มาจากพระไตรปิฎกมาดัดแปลงเป็นพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก เพื่อสื่อปรัชญาความคิดอันลึกซึ้งเกี่ยวกับความเพียรและการพัฒนาปัญญาแก่พสกนิกรในแผ่นดิน

 

เนื่องในปีพุทธศักราช 2554 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยโครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) จึงเห็นสมควรจัดประชุมวิชาการระดับชาติ เรื่อง วัฒนธรรมชาดกในสังคมไทย โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะมนุษยศาสตร์ และสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวาระอันเป็นมงคลนี้ 

 

การประชุมครั้งนี้ ได้รับความกรุณาจากนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็น ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ประคอง นิมมานเหมินท์ ดร. ปีเตอร์ สกิลลิ่ง จากสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพทิศ ศาสตราจารย์ ดร. ศิราพร ณ ถลาง และรองศาสตราจารย์สุกัญญา สุจฉายา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือด้วยดีจากนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิในสถาบันการศึกษาต่างๆ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่สนใจศึกษาชาดกในหลากหลายแง่มุมตามความสนใจและความเชี่ยวชาญของตนเอง สำหรับผู้เข้าร่วมฟังการสัมมนา ประกอบด้วยคณาจารย์ และนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศมากกว่า 250 คน

 

เนื้อหาของบทความต่างๆ ที่นำเสนอในการประชุมวิชาการครั้งนี้ครอบคลุมตั้งแต่การพิจารณาชาดกจากแหล่งกำเนิดในชมพูทวีป จนกระทั่งแพร่หลายมายังภูมิภาคอุษาคเนย์ การชำระ การแปลตัวบท และการศึกษาชาดกของนักวิชาการตะวันตก การเปรียบเทียบปัญญาสชาดกฉบับพม่ากับฉบับอื่น ความแพร่หลายของชาดกในอรรถกถาชาดกในสังคมไทย แนวคิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ในอุดมคติที่ปรากฏในชาดก รวมทั้งอิทธิพลและบทบาทของชาดกที่มีต่อการสร้างสรรค์วรรณคดี คำทำนาย พิธีกรรม งานศิลปะ การแสดง รวมทั้งเครื่องรางของขลัง ซึ่งล้วนแต่สัมพันธ์กับชีวิตประจำวันของคนไทย

 

การประชุมวิชาการครั้งนี้จึงเป็นการแลกเปลี่ยนทัศนะและสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับชาดกที่มีบทบาทสำคัญในวัฒนธรรมไทยให้ลึกซึ้งและกว้างขวางมากยิ่งขึ้น รวมทั้งสร้างเครือข่ายของนักวิจัยรุ่นใหม่ อันจะเป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการทางพุทธศาสนา การศึกษาวรรณคดีและวัฒนธรรมไทย เป็นการเฉลิมพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นพระบรมธรรมิกมหาราชอย่างเป็นรูปธรรม