วัฒนธรรมการสืบทอดแนวคิดพุทธศาสนาเรื่องทุกข์: จากปัญญาสชาดกสู่บทละครนอกในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

อาจารย์ ดร. พัชรินทร์ บูรณะกร

 

สาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรมไทย คณะศิลปศาสตร์

มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

 

 

บทความนี้มุ่งตอบคำถามว่า เมื่อวรรณคดีชาดกซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อสั่งสอนผู้อ่าน ได้รับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการนำเสนอเป็นวรรณคดีบทละครซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้อ่านเกิดความเพลิดเพลินแล้วนั้น แนวคิดสำคัญในทางพุทธศาสนาที่อยู่ในเรื่อง ยังคงสื่อสารอยู่เช่นเดิมหรือไม่ หากยังสื่อสารอยู่ สื่อสารแนวคิดพุทธศาสนาด้วยกลวิธีใดและประเด็นใดบ้าง โดยมุ่งศึกษาบทละครนอกในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จำนวน 2 เรื่อง ศึกษาเฉพาะตอนที่ปรากฏเป็นบทละครนอกเท่านั้นและศึกษาเฉพาะเรื่องที่มีผู้สันนิษฐานว่ามีที่มาจากปัญญาสชาดก ได้แก่  สังข์ทอง และ คาวี โดยกำหนดจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ และทางพ้นทุกข์ตามแนวคิดพุทธศาสนา และเพื่อศึกษากลวิธีนำเสนอแนวคิดพุทธศาสนาจากบทละครนอก

 

ผลการศึกษาพบว่า บทละครนอกเรื่องสังข์ทอง และ คาวี ได้นำเสนอแนวคิดพุทธศาสนาเรื่องทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ และทางพ้นทุกข์ใน ได้นำเสนอทุกข์ ทั้งทุกข์กาย ทุกข์ใจ และทุกข์กายที่เกิดพร้อมกับทุกข์ใจ ซึ่งมีเหตุแห่งทุกข์มาจากการที่ต้องพลัดพรากจากกัน จากการกระทำของมนุษย์ ซึ่งวิเคราะห์ตามหลักปฏิจสมุปบาทพบว่ามนุษย์ที่ก่อทุกข์แก่ผู้อื่นนั้น เกิดจากอวิชชา ตัณหา และอุปาทาน เป็นตัวนำให้เกิดเวทนา สังขาร และภพ คือการคิดและกระทำการอันไม่ดีต่อผู้อื่น ตัวละครที่ก่อทุกข์แก่ผู้อื่นนั้นเวียนว่ายอยู่ในวงจรแห่งทุกข์ทั้งก่อทุกข์แก่ตนเองและขยายขอบเขตของทุกข์ไปยังผู้อื่นด้วย  หนทางพ้นทุกข์ที่บทละครนอกนำเสนอคือ การพ้นทุกข์ด้วยความมานะพยายาม  ด้วยความซื่อสัตย์ ด้วยการให้อภัย

 

กลวิธีนำเสนอแนวคิดพุทธศาสนาคือ การนำเสนอแก่นเรื่อง โดยแบ่งเป็น การนำเสนอแก่นเรื่องที่เสนอแนวทางปฏิบัติที่ดี เพื่อนำเสนอคุณธรรมอันดีที่มนุษย์พึงปฏิบัติตามหลักคำสอนเรื่องการทำความดีตามแนวคิดในพุทธศาสนา และแก่นเรื่องที่เสนอแนวทางปฏิบัติที่ไม่ดี เพื่อแนะผู้อ่านในทางอ้อมว่าหากไม่ต้องการประสบความหายนะในชีวิตเช่นตัวละครเหล่านี้ก็ให้หลีกเลี่ยงการประพฤติที่ไม่ดีเสีย

 

กลวิธีการสร้างอนุภาคเรื่องการพลัดพราก จากคนรัก และจากบิดามารดา อนุภาคการพลัดพรากนี้ได้นำเสนอแนวคิดทางพุทธศาสนาเรื่องการเอาชนะอุปสรรคและความทุกข์ด้วยความดีงาม ความมานะพยายามอย่างอดทนอดกลั้นเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีคืนมา ได้สื่อแนวคิดเรื่องกรรมอันเป็นเหตุให้ตัวละครต้องพลัดพรากจากกันด้วย และกลวิธีการสร้างตัวละครฝ่ายดีให้เป็นตัวอย่างของความดีงามตามคำสอนในพุทธศาสนา และตัวละครฝ่ายร้ายเพื่อแสดงให้เห็นโทษของการกระทำชั่วอันได้รับผลเป็นความทุกข์ที่แสนสาหัส

 

บทละครนอกทั้ง 2 เรื่อง คือ สังข์ทอง และ คาวี อันมีผู้สันนิษฐานว่ามีที่มาจากปัญญาสชาดกนี้ ได้นำเสนอแนวคิดทางพุทธศาสนาไว้อย่างเด่นชัด และนำเสนอด้วยกลวิธีของงานเขียนบันเทิงคดีที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกเพลิดเพลินไปกับเรื่องราว แต่ขณะเดียวกันก็ได้รับสาระความรู้อันเป็นประโยชน์แก่การดำเนินชีวิตไปด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่าบทละครนอกจึงเป็นวรรณคดีที่สืบทอดวัฒนธรรมชาดกจากปัญญาสชาดกทั้งกลวิธีนำเสนอแนวคิดทางพุทธศาสนาและแนวคิดทางพุทธศาสนาในระดับเบื้องต้นได้อย่างชัดเจน

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วัฒนธรรมชาดกในสังคมไทย" ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน–1 กรกฎาคม 2554 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ คณะมนุษยศาสตร์ และสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)