อลินจิตต์คำฉันท์: จากชาดกสู่วรรณคดีนิทานร้อยกรอง

อาจารย์วสันต์ รัตนโภคา

 

สาขาวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

 

 

บทความนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงให้เห็นถึงกลวิธีการสร้างอลินจิตต์ชาดกให้เป็นวรรณคดีนิทานร้อยกรองของไทยเรื่องอลินจิตต์คำฉันท์ พระนิพนธ์ในสมเด็จพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่น กวีพจน์สุ-ปรีชา  เมื่อพิจารณาเนื้อหาในภาพรวมของอลินจิตต์คำฉันท์แล้วพบว่า กวียังคงรักษาแนวคิดเรื่องความกตัญญูตามอย่างอลีนจิตตชาดกอยู่ และยังคงดำเนินเรื่องตามโครงเรื่องของอลีนจิตตชาดก แม้ว่ากวีจะได้ทรงแทรกส่วนต่างๆ ตามขนบของนิทานร้อยกรองเข้าไป ทั้งการพรรณนาเมือง การพรรณนากระบวนเรือพระที่นั่ง การพรรณนาธรรมชาติ และการพรรณนาอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครก็มิได้ทำให้แนวคิดของเรื่องและโครงสร้างของเรื่องเสียหาย แต่กลับทำให้ผู้อ่านรู้สึกเพลิดเพลินใจมากกว่า กล่าวโดยสรุปแล้ว อลินจิตต์คำฉันท์ พระนิพนธ์ในพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา เป็นวรรณคดีที่มีความโดดเด่นในการนำเสนอเนื้อหามากกว่าวรรณคดีที่มีที่มาจากนิบาตชาดกหลายเรื่องที่มุ่งแสดงเฉพาะหลักธรรมคำสอนซึ่งมีเนื้อหาแห้งแล้งและไม่ชวนให้ติดตาม โดยยังคงรักษาแนวคิดเรื่องความกตัญญูของอลีนจิตตชาดกไว้อย่างครบถ้วน อลินจิตต์คำฉันท์จึงถือได้ว่าเป็นวรรณคดีเอกเรื่องหนึ่งในวงวรรณคดีไทยที่ควรค่าแก่การศึกษายิ่ง

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วัฒนธรรมชาดกในสังคมไทย" ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน–1 กรกฎาคม 2554 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ คณะมนุษยศาสตร์ และสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)