The Silent Prince: จากมหานิบาตชาดกสู่มหาอุปรากร

อาจารย์ ดร. อาทิตย์ ชีรวิณิชย์กุล

 

ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

บทความวิจัยนี้มุ่งศึกษาบทมหาอุปรากร The Silent Prince ของสมเถา สุจริตกุล ซึ่งนำเค้าโครงเรื่องมาจากเตมียชาดก ชาดกเรื่องที่ 538 ในคัมภีร์ชาดกบาลี และเป็นเรื่องที่หนึ่งในมหานิบาตหรือทศชาติชาดก จากการศึกษาแสดงว่า มหาอุปรากร The Silent Prince เป็นการปรับเปลี่ยนบริบทของการเล่าเรื่องชาดกอย่างชัดเจน สารสำคัญของเรื่อง คือ การบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ โดยเฉพาะเนกขัมมบารมีเพื่อความหลุดพ้นจากบ่วงกรรมและสังสารวัฏ รวมทั้งเพื่อประโยชน์สุขของสรรพสัตว์ ได้รับการนำเสนออย่างชัดเจนผ่านความขัดแย้งระหว่างพระเตมีย์กับพระบิดา เมื่อพระบิดา ซึ่งเป็นตัวแทนของ “โลก” ทรงคาดหวังให้พระเตมีย์เป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ แต่พระเตมีย์ ซึ่งเป็นตัวแทนแห่ง “ธรรม” ไม่ยอมกระทำตามพระประสงค์ เพราะเห็นว่าการครองราชสมบัตินั้นเป็นเหตุให้ต้องลงทัณฑ์ผู้อื่นตามหน้าที่ของพระราชา อันเป็นบาปอกุศลที่จะนำตนไปสู่ทุคติดังเช่นในอดีตชาติที่ผ่านมา จึงแสร้งทำตนเป็นคนพิการ นอกจากนี้ หากพิจารณาในแง่ของการนำชาดกมาปรับเพื่อนำเสนอเป็นการแสดงแล้ว มหาอุปรากร The Silent Prince แสดงให้เห็นการสืบทอดขนบของการถ่ายทอดชาดกเป็นการแสดงซึ่งมีมาแต่โบราณกาล และแสดงให้เห็นความคิดสร้างสรรค์ในการประสมประสานนาฏยศิลป์และคีตศิลป์ตะวันตกกับตะวันออก เพื่อนำเสนอชาดกอันเป็นสมบัติทางปัญญาของมนุษย์ให้ยังคงมีชีวิตอยู่ในสังคมร่วมสมัย

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วัฒนธรรมชาดกในสังคมไทย" ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน–1 กรกฎาคม 2554 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ คณะมนุษยศาสตร์ และสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)