ถอดบทเรียนวรรณกรรมอีสานศึกษา: มองเส้นทางจากอดีตสู่อนาคต

รองศาสตราจารย์ ดร.ปฐม หงษ์สุวรรณ

 

สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

 

บทความเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสังเคราะห์ผลงานวิจัยที่ทำการศึกษาค้นคว้าและตีความเกี่ยวกับวรรณกรรมท้องถิ่นอีสานในประเทศไทยที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นรวบรวมและสังเคราะห์จากผลงานวิจัยที่เป็นวิทยานิพนธ์เป็นหลัก ผลการศึกษาครั้งนี้ผู้เขียนได้แบ่งเนื้อหาการนำเสนอออกเป็น 3 ช่วงใหญ่ๆ คือ ช่วงแรก: “วิถีวิจัยในรอยอดีต” พบว่าเป็นกลุ่มงานวิจัยทางด้านวรรณกรรมอีสานระหว่างปี พ.ศ.2520-2550 ซึ่งเป็นการศึกษาข้อมูลวรรณกรรมอีสานในช่วงต้นๆ ทั้งในเชิงวรรณกรรมศึกษาและในเชิงการปริวรรตตัวบท ส่วนช่วงที่สอง : “วิถีวิจัยในปัจจุบันกาล” เป็นกลุ่มงานวิจัยด้านวรรณกรรมอีสานระหว่างปี พ.ศ.2551-2560 เป็นกลุ่มงานวิจัยที่มีความต่อเนื่องและพัฒนาการจากช่วงแรก กล่าวคือ กลุ่มนี้เน้นการวิจัยด้วยการใช้แนวทางที่หลากหลายมากขึ้น ที่เห็นได้เด่นชัด นั่นคือ การพยายามที่นำเอาแนวคิดทฤษฎีเชิงบทบาทหน้าที่บ้าง รวมทั้งแนวคิดทางสังคมศาสตร์อื่นๆ มาใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ตีความข้อมูลวรรณกรรมอีสาน แต่ทว่าแนวทางการวิจัยตามแนวทางเดิมนั้นก็ยังคงได้รับความนิยมและดำเนินควบคู่ไปด้วยเช่นกัน และช่วงที่ 3: “วิถีวิจัยในอนาคตกาล” นับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป ทั้งนี้ผู้เขียนต้องการนำเสนอให้เห็นว่าเป็นทิศทางและแนวโน้มการวิจัยเกี่ยวกับวรรณกรรมอีสานที่คาดว่าจะมีการศึกษาค้นคว้าและวิจัยเพิ่มขึ้น ซึ่งในช่วงเวลานี้จะเป็นการวิจัยที่มุ่งเน้นนำเอาแนวคิดทฤษฎีหลังสมัยใหม่บ้าง รวมทั้งการศึกษาเชิงเปรียบเทียบทั้งแบบข้ามศาสตร์และข้ามชาติเข้ามาประยุกต์ใช้ ตลอดจนการศึกษาเพื่อมุ่งค้นหาความหมายและการประกอบสร้างสังคมผ่านข้อมูลวรรณกรรมอีสาน อนึ่ง ผู้เขียนยังต้องการนำเสนอให้เห็นวิถีการดำรงอยู่และกระบวนการสืบทอดอนุรักษ์วรรณกรรมอีสานในชุมชนท้องถิ่นแห่งนี้ว่ามีอย่างไร ทั้งในระดับปัจเจกและระดับสังคม โดยสรุปทิศทางและแนวโน้นการวิจัย รวมทั้งการดำรงอยู่และการสืบทอดเกี่ยวกับวรรณกรรมอีสานในท้องถิ่นแห่งนี้ได้แสดงให้เห็นพัฒนาการอย่างต่อเนื่องต่อการศึกษาค้นคว้าและความก้าวหน้าทางการวิจัยในวงการวรรณกรรมท้องถิ่นศึกษาโดยรวมได้อย่างน่าสนใจ

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วรรณกรรมท้องถิ่น : จากวันวานถึงวันหน้า" วันที่ 14 ธันวาคม 2561 ณ โรงแรมแคนทารี่ ฮิลล์ จังหวัดเชียงใหม่ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ล้านนาศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)