ประวัติและผลงาน อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย

อุบลพรรณ วรรณสัย

 

นักวิชาการอิสระ

 

 

ประวัติ

 

อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2463 (ตรงกับวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 4 ปีมะแม) ณ บ้านสันมหาพน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน บิดาชื่อนายจันทร์ วรรณสัย มารดาชื่อนางจันทร์ทิพย์ วรรณสัย บิดามารดาประกอบอาชีพทำนา มีพี่น้องร่วมบิดามารดา จำนวน 3 คน

 

เมื่ออายุได้ 12 ปี เด็กชายสิงฆะ วรรณสัย ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดมหาวัน ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ต่อมาเมื่ออายุ 21 ปี ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดมหาวัน เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2484 ได้รับนามฉายาว่า ทีปงฺกโร ต่อมาเมื่ออายุ 25 ปี ได้ลาสิกขา แล้วได้เข้ารับการบรรจุเป็นข้าราชการครูชั้นจัตวา ตำแหน่งครูโรงเรียนประชาบาล กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2490 ขณะที่อายุ 27 ปี อัตราเงินเดือน 10 บาท

 

อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย สมรสกับนางสาวเรือนคำ (นามสกุลเดิม กองมณี) เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 มีบุตรธิดารวม 8 คน คือ เอมอร พรสิริ กนิษฐา บารเมศ เจตนา จาตุรนต์ และอุบลพรรณ

 

 

การศึกษา

 

พ.ศ. 2473 : สอบไล่ได้ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนประชาบาลตำบลในเมือง (ประตูลี้) อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

 

พ.ศ. 2479 : สอบไล่ได้ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนปริยัติธรรมหริภุญชัย (พุทธวิทยาทาน) วัดพระธาตุหริภุญชัย ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

 

พ.ศ. 2481 : บาลีเปรียญธรรม 3 ประโยค สำนักเรียนวัดพระธาตุหริภุญชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

 

พ.ศ. 2483 : นักธรรมชั้นเอก สำนักเรียนวัดพระธาตุหริภุญชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

 

พ.ศ. 2484 : บาลีเปรียญธรรม 4 ประโยค  สำนักเรียนวัดมหาธาตุยุวราช-รังสฤษฎิ์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

 

พ.ศ. 2485 : บาลีเปรียญธรรม 5 ประโยค สำนักเรียนวัดพระธาตุหริภุญชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

 

พ.ศ. 2492 : ประกาศนียบัตรประโยคครูพิเศษประถม (พ.ป.)

 

พ.ศ. 2504 : ประกาศนียบัตรประโยคครูมัธยม (พ.ม.)

 

 

หน้าที่การงาน (ขณะเป็นสามเณรและภิกษุ)

 

พ.ศ. 2481 : ครูสอนภาษาไทย โรงเรียนวัดพระธาตุหริภุญชัย อำเภอเมือง จังหวัดลําพูน

 

พ.ศ. 2483 : ครูสอนภาษาบาลี ชั้นเปรียญธรรม 3 ประโยค สำนักเรียนวัดพระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลําพูน และวัดป่าซางงาม อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน

 

พ.ศ. 2484 : ครูสอนนักธรรมขั้นเอก สำนักเรียนวัดเบญจมบพิตรฯ กรุงเทพมหานคร

 

 

หน้าที่การงาน (เมื่อเป็นฆราวาส)

 

พ.ศ. 2490 : ครูประชาบาล โรงเรียนประตูป่า (โพธิประชานุกูล) อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

 

พ.ศ. 2491 : ครูใหญ่ โรงเรียนประตูป่า (โพธิประชานุกูล) อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

 

พ.ศ. 2493 : ครูใหญ่โรงเรียนบ้านอุโมงค์ (คันธาราษฎร์วิทยาทาน) อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

 

พ.ศ. 2484 : ผู้ตรวจการประถมศึกษาอำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

 

พ.ศ. 2487 : ผู้ช่วยศึกษาธิการอำเภอ ประจำกิ่งอำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน

 

พ.ศ. 2499 : ครูใหญ่ โรงเรียนบ้านป่าแก อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

 

พ.ศ. 2502 : ครูใหญ่ โรงเรียนวัดเหมืองง่า (ญาณมงคลศึกษากร) อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

 

พ.ศ. 2510 : ครูใหญ่ โรงเรียนริมปิง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

 

พ.ศ. 2518 : อาจารย์พิเศษ ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

 

ชีวิตของอาจารย์สิงฆะ วรรณสัย

 

สมัยที่อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ยังครองเพศบรรชิตอยู่ ได้เริ่มศึกษาธรรมล้านนากับสามเณรเบี้ยว อินทปัญญา แล้วศึกษาเพิ่มเติมกับพระวินัยธรกี ญาณวิจาโร ที่วัดมหาวัน ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ภายหลังยังได้ศึกษาอักษรธรรมล้านนา วิธีการแต่งคำโอกาสเวนทาน โคลงล้านนา คร่าว และกาพย์ล้านนา กับพระครูศรีบุญสถิต (ครูบาปันแก้ว ปุณฺณวํโส) เจ้าอาวาสวัดศรีบุญยืน จังหวัดลำพูน และครูบาอินคำ วิสารโท วัดบุปผาราม (สบปะ) จังหวัดลำพูน ตลอดจนถึงได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูบาอาจารย์ นักปราชญ์ราชบัณฑิต และผู้เฒ่าผู้แก่อีกหลายท่านในเขตภาคเหนือ ควบคู่กับการฝึกแต่งโคลงฉันท์กาพย์กลอนแบบภาคกลางด้วยตนเอง นอกจากได้เรียนภาษาไทย และภาษาล้านนาแล้ว ยังได้เรียนภาษาอังกฤษกับครูซึ่งเป็นแขก ชื่อมานิคัม จนสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้

 

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2513 อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ได้ลาออกจากราชการ ขณะที่อายุครบ 50 ปีบริบูรณ์ ตำแหน่งสุดท้าย คือเป็นครูใหญ่โรงเรียนวัดสันริมปิง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

 

เมื่อลาออกจากราชการแล้ว อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ได้ศึกษาค้นคว้าวิชาความรู้ด้านอักษร ภาษาและวรรณกรรม จากตำราที่เคยเก็บสะสมไว้ หรือศึกษาจากคัมภีร์ใบลานและพับสาตามวัดต่างๆ โดยปริวรรตเป็นอักษรไทย และแปลหรือเรียบเรียงเป็นภาษาไทยปัจจุบัน

 

ในฐานะที่เคยเป็นครูมาก่อน จึงได้รับเชิญให้เป็นพิธีกร หรือมัคนายก ในงานบุญประเพณีต่างๆ ในเขตจังหวัดลำพูนและจังหวัดเชียงใหม่ เป็นกรรมการและที่ปรึกษาชมรมหรือกลุ่มสมาคมท้องถิ่น เป็นอาจารย์พิเศษที่คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นวิทยากร และที่ปรึกษาด้านวิชาการ กรรมการสอบวิทยานิพนธ์ แก่คณาจารย์และนักศึกษาด้านล้านนาคดีทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

 

 

ผลงานที่สำคัญ

 

ในสมัยที่อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ประกอบอาชีพเป็นครูนั้น ได้แต่งตำราเรียนภาษาไทย และประมวลการสอนในระดับประถมศึกษาร่วมกับคณะครูอำเภอเมืองลำพูน

 

เนื่องจากเป็นผู้ที่สนใจศึกษาด้านภาษาและวรรณกรรมมาตั้งแต่สมัยที่บวชเรียน จึงมีผลงานทั้งด้านการแต่งโคลง ฉันท์ กาพย์กลอน แบบภาคกลาง และโคลง ฉันท์ กาพย์ คร่าว คำร่ำ และคำเวนทานที่เป็นร่ายแบบล้านนา เช่น คำร่ำสลากย้อม (ประมาณ 50 สำนวน) คำเวนทานในโอกาสต่างๆ (มากกว่าร้อยสำนวน) รวมถึงนิราศต่างๆ เช่น นิราศบ้านโฮ่ง (กลอนแปด) นิราศเดือนเมืองเหนือ (กลอนแปด) นิราศเหมืองง่า (คร่าวและโคลง) นิราศรัก (กลอนแปด) นิราศเชียงราย (คร่าว) นิราศวังมุย (กลอนแปด) นิราศเมืองลี้ และนิราศเมืองคีล (เยอรมนี) เป็นต้น

 

เมื่อเป็นอาจารย์พิเศษที่คณะมนุษยศาสตร์ มหาิวทยาลัยเชียงใหม่ ได้เรียบเรียงตำราเรียนภาษาล้านนา หนังสือปริทัศน์วรรณกรรมล้านนา นอกจากนั้นยังได้เรียบเรียงตำราและฉันทลักษณ์ของบทกวีนิพนธ์ล้านนา โดยเฉพาะโคลงและคร่าวชนิดต่างๆ ปริวรรตหรือแปลวรรณกรรมล้านนา เช่น พุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก (มีการนำมาจัดพิมพ์เผยแพร่ซ้ำอีกหลายครั้ง) ตำนานพญาเจือง ตำนานเจ้า 7 พระองค์ อุสสาบารส พรหมจักร หรมาน โลกนัยชาดก โคลงเจ้าวิทูรสอนหลาน โคลงมังทรารบเชียงใหม่ คร่าวสี่บท และคร่าวร่ำครูบาศรีวิชัย ผลงานที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่ง คือการแต่งและเป็นผู้กล่าวคำโอกาสเวนทานในงานพระราชทานเพลิงศพครูบาศรีวิชัย เมื่อ พ.ศ. 2489 (ไม่สามารถหาต้นฉบับได้)

 

ด้านการเรียบเรียงและจัดพิมพ์คัมภีร์ธรรมเทศนานั้น อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ได้นำชาดกเรื่องอะลองพระเจ้าดินเหนียว และจักรพรรดิยาจก มาจัดพิมพ์ลงในใบลานด้วยอักษรไทย เรียบเรียงคัมภีร์ธรรมเทศนาเรื่องมณีจันทกุมาร วนาวนกุมาร วรนุชชาดก และชนสันธชาดก เผยแพร่โดยเขียนอักษรธรรมล้านนาไว้ด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งใช้เครื่องพิมพ์ดีดพิมพ์อักษรไทยลงกระดาษไข แล้วโรเนียวลงในคัมภีร์ธรรมกระดาษ (ลานเทียม) ต่อมาได้และเรียบเรียงจามเทวีวงศ์ แล้วจัดพิมพ์เป็นธรรมกระดาษด้วยอักษรไทย เผยแพร่และจำหน่ายตามวัดต่างๆ ทั่วภาคเหนือ