ผลงานสำคัญส่วนหนึ่งของอาจารย์สิงฆะ วรรณสัย

อุบลพรรณ วรรณสัย

 

นักวิชาการอิสระ

 

 

โคลงเจ้าวิทูรสอนหลาน 

 

ลำพูน: สภาเปรียญลำพูน และยุวพุทธิกสมาคมลำพูน, 2515

 

งานแสดงความชื่นชมและยินดีสำหรับพระภิกษุสามเณรในจังหวัดลำพูนที่สามารถสอบบาลีเปรียญธรรมได้ จำนวน 26 รูป คณะสงฆ์ สภาเปรียญ และยุวพุทธกสมาคมลำพูน จึงได้จัดพิมพ์วรรณกรรมคำสอนล้านนาที่อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ได้ปริวรรตจากต้นฉบับของพระยาราชกาวี (กวีชาวไทยอง) ที่พระตา คำพรหม วัดศรีเมืองยู้ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ได้เก็บรักษาไว้ เพื่อเผยแพร่ในงานดังกล่าว

 

โคลงเจ้าวิทูรสอนหลาน แต่งด้วยโคลงแบบล้านนา ฉบับที่ปริวรรตนี้มี จำนวน 258 บท เป็นคำสอนเกี่ยวกับบทบาท หน้าที่ และสิ่งที่คนในฐานะต่างๆ คือ สามัญชน ข้าทาส ขุนนาง ผู้ปกครอง ทั้งชายและหญิง ที่พึงกระทำและไม่พึงกระทำ โดยเปรียบเทียบกับสิ่งรอบตัวและตัวอย่างจากวรรณกรรม

 

 

ตำนานพระธาตุเจ้าหริภุญชัย จังหวัดลำพูน 

 

ลำพูน: ชมรมหนุ่มสาวชัยมงคล, 2516

 

 

ชมรมหนุ่มสาวชัยมงคล จัดพิมพ์เป็นหนังสือเล่มนี้เพื่อแจกในงานสมโภชสมณศักดิ์พระครูประสาทสุตาคม เจ้าคณะอำเภอเมืองลำพูน ที่เลื่อนเป็นพระครูรองเจ้าอาวาส พระอารามหลวงชั้นเอก คณะหลวง วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.ลำพูน เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2516

 

อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ได้แปลตำนานพระเจ้าหริภุญชัย จากคัมภีร์ใบลานอักษรธรรมล้านนาและตำนานอื่นที่เกี่ยวข้อง มาเรียบเรียงเป็นภาษาไทยปัจจุบัน กล่าวถึงพุทธประวัติแบบย่อและการประดิษฐานพระเกศาธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุที่เจดีย์ใหญ่กลางเมืองหริภุญชัย การบูรณปฏิสังขรณ์ในยุคสมัยต่างๆ เช่น พระญามังราย พระญากือนา พระญาติโลกราช พระเมืองแก้ว และกษัตริย์เชียงใหม่พระองค์อื่นๆ ด้วย แล้วนำตำนานเทวดาเอาคนเข้าไปในถ้ำเมืองลำพูน มาแทรกไว้ ซึ่งตำนานดังกล่าวเล่าเรื่องการเข้าไปในถ้ำหรืออุโมงค์ใต้ฐานพระเจดีย์หริภุญชัยที่มีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่ และเต็มไปด้วยเงินทองของประดับต่างๆ จำนวนมาก ในตอนท้ายของเล่มได้นำนิราศหริภุญชัยบางตอนมาแทรกไว้ พร้อมแนะนำโบราณสถาน โบราณวัตถุ และประเพณีที่สำคัญของวัดพระธาตุหริภุญชัย

 

 

ตำราเรียนอักขระลานนาไทย

 

เชียงใหม่: ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2518

 

 

อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ได้เรียบเรียงและปรับปรุงจากเอกสารประกอบการสอน รายวิชาลานนาศึกษา ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปีการศึกษา ๒๕๑๘ กล่าวถึงความเป็นมา ความสำคัญ และพัฒนาการของของอักษรธรรมล้านนา อักษรและอักขรวิธี และตัวอย่างการปริวรรต พร้อมทั้งแบบฝึกอ่านที่เป็นนิทานหรือวรรณกรรมล้านนา ตลอดจนอธิบายการแต่งคร่าวด้วย จำหน่ายราคาเล่มละ 35 บาท
ต่อมา “สภาเปรียญลำพูน” ได้นำหนังสือเล่มนี้มาจัดพิมพ์เผยแพร่อีกครั้ง เพื่อจำหน่ายให้กับพระภิกษุสามเณรและผู้สนใจทั่วไปในเขตภาคเหนือ

 

 

พุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก

เชียงใหม่: ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2518

 

อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ได้นำคัมภีร์ใบลานพุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก จำนวน 11 ผูก ซึ่งจารด้วยอักษรธรรมล้านนาในใบลาน มาเรียบเรียงใหม่โดยแปลให้เป็นภาษาไทยกลาง พิมพ์ครั้งแรกด้วยเครื่องพิมพ์ดีดลงกระดาษไขแล้วอัดสำเนาเผยแพร่ ต่อมาได้มีการนำมาตีพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้ง

 

พุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก เป็นตำนานที่กล่าวถึงเรื่องราวที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรดพุทธบริษัทในเขตอาณาจักรล้านนาและพื้นที่ใกล้เคียง การประทานพระเกศา การอธิบายที่มาของชื่อบ้านนามเมืองและสถานที่ต่างๆ พร้อมทั้งตรัสว่าเมื่อปรินิพพานแล้ว ขอให้พระสาวกได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานในบ้านเมืองเหล่านั้นด้วย 

 

อุสสาบารส วรรณกรรมลานนาไทยสมัยพระเจ้ากือนา

 

เชียงใหม่: ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2519

 

 

 

อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ได้นำคัมภีร์ใบลานเรื่องอุสสาบารส ที่สร้างโดยครูบาศรีวิชัยมาปริวรรตเป็นอักษรไทย พร้อมคำอธิบายศัพท์ และนำโคลงดั้นเรื่องอุสสาบารส มาปริวรรตไว้ในส่วนท้ายเล่มด้วย แล้วโครงการลานนาคดีศึกษา ของภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำมาจัดพิมพ์เป็นเอกสารลำดับที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2519

อุสสาบารส ฉบับล้านนา พบทั้งที่เป็นร่ายและโคลง ถือเป็นวรรณกรรมเก่าแก่ ดังปรากฎการอ้างถึงในกฏหมายล้านนาสมัยพระญากือนา และโคลงนิราศหริภุญชัย ทั้งยังเป็นวรรณกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากวรรณคดีสันสกฤต เนื้อเรื่องเป็นชาดก โดยพระโพธิสัตว์คือท้าวบารส มเหสีคือนางอุสสา แต่มีอุปสรรคต่างๆ ทำให้นางอุสสาต้องล้มป่วยและตรอมใจตาย เป็นชาดกที่จบด้วยโศกนาฏกรรมซึ่งแตกต่างจากชาดกเรื่องอื่นๆ

 

 

โคลงเรื่อง มังทรารบเชียงใหม่

 

เชียงใหม่: ศูนย์หนังสือเชียงใหม่, 2522

 

 

 

อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ได้ปริวรรตคัมภีร์ใบลานเรื่องโคลงมังทรารบเชียงใหม่ ซึ่งจารด้วยอักษรไทนิเทศ (ขอมเมือง) โดยสอบทานกับอีก 3 ฉบับ โคลงแต่ละบทจะมีข้อความปริวรรตเป็นอักษรไทยพร้อมทั้งถอดความเป็นภาษาไทย และมีคำอธิบายศัพท์ท้ายเล่ม พิมพ์เผยแพร่ในงานฉลองอายุ 7 รอบ ของนางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ (วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2522)

โคลงมังทรารบเชียงใหม่ กล่าวถึงเหตุการณ์หลังจากที่พม่าได้มาตีเมืองเชียงใหม่แล้วกวาดต้อนผู้คนไปเป็นเชลยที่พม่า กวีได้พรรณนาเส้นทางและสิ่งที่พบเห็นด้วยโคลงสุภาพล้านนา จำนวน 303 บท
นอกจากนั้นอาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ยังได้แต่งโคลงล้านนาสรุปเนื้อหาและเล่าเรื่องราวของการปริวรรตโคลงเรื่องนี้ จำนวน 20 บท
    

 

ชาดกนอกนิบาต พรหมจักร รามเกียรติ์ฉบับสำนวนและภาษาลานนาไทย (ปริวรรต)

 

เชียงใหม่: คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2522

 

 

 

อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ได้ปริวรรตคัมภีร์ใบลานเรื่องพรหมจักร จำนวน 10 ผูก ที่จารด้วยอักษรธรรมล้านนาเป็นอักษรไทย ต้นฉบับจากวัดขี้เหล็ก ต.ขี้เหล็ก อ.เมือง จ.ลำพูน โดยใช้เวลาทำงานประมาณ 20 วัน ภาควิชาภาษาไทย ได้นำมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือในโครงการตำรา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2522 ในเล่มประกอบด้วยคำนำ คำชี้แจงของผู้ปริวรรต เนื้อเรื่อง และคำอธิบายศัพท์ท้ายเรื่อง

พรหมจักร เป็นชื่อวรรณกรรมล้านนาที่มีเนื้อหาหรือเค้าเรื่องเดียวกับรามเกียรติ์ แต่ดำเนินเรื่องแบบชาดก คือกล่าวถึงมูลเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมชาดก เนื้อหาของเรื่อง และการสรุปว่าตัวละครในเรื่องได้มาเกิดเป็นใครในสมัยพุทธกาล ซึ่งครั้งนั้นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพรหมจักรกุมาร แห่งเมืองพาราณสี ได้ไปศึกษาวิชาความรู้ที่เมืองตักกสิลา ภายหลังได้อภิเษกกับนางสีดา ต่อมาท้าววิโรหราชได้มาลักพานางสีดาไป ท้าวพรหมจักร รัมมจักร และหอรมาน ต้องเดินทางตามหาและต่อสู้กับอุปสรรคนานัปการจนเอาชนะท้าววิโรหราช และได้นางสีดากลับมาครองคู่อีกครั้ง

 

 

โลกนัยชาดก (ปริวรรต)

 

เชียงใหม่: หน่วยส่งเสริมศิลปศึกษาและวัฒนธรรมลานนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2522

 

 

อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ได้ปริวรรตคัมภีร์ใบลานเรื่องโลกนัยชาดก จำนวน 10 ผูก ต้นฉบับจากวัดศรีพันต้น อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ที่จารโดยพระคัมภีรภิกขุ เจ้าอาวาส เจ้าภาพผู้สร้างคือพระเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน เมื่อ พ.ศ. 2403 จารด้วยอักษรธรรมล้านนาเป็นอักษรไทย

 

หน่วยส่งเสริมศิลปศึกษาและวัฒนธรรมลานนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำมาจัดพิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2522 เนื้อหาในเล่มประกอบด้วย บทปริวรรตเรื่องโลกนัยชาดก และศัพทานุกรม

 

โลกนัยชาดก เป็นวรรณกรรมประเภทคำสอน กล่าวถึงครรลองในการปฏิบัติของคนในระดับต่างๆ เทียบกับคติธรรมในพุทธศาสนา โดยพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นบุตรเศรษฐีเมืองอินทปัตถนคร นามว่าธนัญชัยกุมาร เป็นผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด สามารถตอบปัญหาและอธิบายเรื่องราวต่างๆ ได้เป็นอย่างดี 

 

 

สารประวัติครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งลานนาไทย 

 

เชียงใหม่: สำนักพิมพ์ศูนย์หนังสือเชียงใหม่, 2522

 

 

 

อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ได้เรียบเรียง “สารประวัติของครูบาศรีวิชัย” โดยอาศัยประสบการณ์ที่ได้สนทนากับครูบาศรีวิชัย และการสัมภาษณ์ญาติผู้ใกล้ชิด ที่ติดตามครูบาไปในสถานที่ต่างๆ 

 

ในงานพระราชทานเพลิงศพครูบาศรีวิชัย เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2489 อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ซึ่งตอนนั้นยังครองเพศเป็นภิกษุอยู่ ได้รับฉันทานุมัติให้เป็นผู้กล่าวคำโอกาสเวนทานในงานดังกล่าวด้วย

 

หนังสือสารประวัติครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งลานนาไทย ประกอบด้วยประวัติครูบาศรีวิชัยที่เรียบเรียงเป็นร้อยแก้ว ฉันทลักษณ์และหลักเกณฑ์การแต่งคร่าว และการปริวรรต “คร่าวประวัติครูบาศรีวิชัย” สำนวนของพระภิกษุสุนทรพจนกิจ จากหนังสือที่พิมพ์ด้วยอักษรธรรมล้านนามาเป็นอักษรไทย โดยจัดวรรคตอนให้อ่านง่าย พร้อมทั้งคำอธิบายคำศัพท์ท้ายเล่ม

 

 

ปริทัศน์วรรณคดีลานนาไทย

 

เชียงใหม่: โครงการตำรา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2523

 

 

 

โครงการตำรา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำเอกสารประกอบการสอนของอาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ที่เผยแพร่เป็นเอกสารอัดสำเนา เมื่อ พ.ศ. 2522 มาจัดพิมพ์ใหม่ เป็นผลงานลำดับที่ 9 พิมพ์จำหน่าย เมื่อ พ.ศ.2523

หนังสือปริทัศน์วรรณคดีลานนาไทยเล่มนี้ ได้สรุปความเป็นมาของอาณาจักรล้านนา การแบ่งประเภทและยุคสมัยของวรรณกรรมล้านนา คัดเลือกวรรณกรรมที่สำคัญและน่าสนใจมาสรุปเป็นเรื่องย่อ และนำเนื้อความ หรือสำนวนบางตอนมานำเสนอให้เห็นเป็นตัวอย่างด้วย เช่น มหาเวสสันดรชาดกสำนวนต่างๆ สมาส โคลง และคร่าวล้านนา เพื่อให้เห็นภาพรวมของวรรณกรรมล้านนา

 

 

กฎหมายพระเจ้าน่าน

 

เขียงใหม่: ศูนย์ส่งเสริมและศึกษาวัฒนธรรมลานนาไทย วิทยาลัยครูเชียงใหม่, 2523

 

 

 

ศูนย์ส่งเสริมและศึกษาวัฒนธรรมลานนาไทย วิทยาลัยครูเชียงใหม่ ได้นำผลงานการปริวรรตคัมภีร์ใบลาน เรื่อง “กฏหมายพระเจ้าน่าน” ของอาจารย์สิงฆะ วรรณสัย มาจัดพิมพ์เผยแพร่เป็นลำดับที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2523 

 

กฎหมายพระเจ้าน่าน คือกฎหมายโบราณที่ตราขึ้นเพื่อใช้ปกครองในเมืองน่าน แต่งเมื่อ พ.ศ 2383 ว่าด้วยการลักและการปรับไหมเกี่ยวกับวัวควาย การบูชาเทพดาอารักษ์ การตัดต้นไม้ การบุกเบิกที่นา การทะเลาะวิวาท การกู้ยืมเงิน การปลอมแปลงเงินตรา การซื้อขายข้าว การรักษาด่านประจำเมือง การสร้างเหมืองฝาย และการอุปถัมภ์บำรุงพุทธศาสนา

 

 

ประวัตพระนางจามเทวี และจังหวัดลำพูน

 

พิมพ์เป็นธรรมทานในการฉลองสมณศักดิ์ พระราชสุตาจารย์ บริหารจามเทวี ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี, 2514

 

 

 

ประวัตพระนางจามเทวี และจังหวัดลำพูนเป็นหนังสือที่รวบรวมข้อความจากตำนานเก่า ๆ มาไว้ในเล่มเดียวกันเพื่อสะดวกในการศึกษา ค้นคว้าและสันนิษฐาน โดยเฉพาะที่กล่าวโดยละเอียดคือ ประวัติพระนางจามเทวี หนังสือเล่มนี้มีขัอสันนิษฐานของผู้รวบรวมโดยอาศัยเหตุผล สิ่งแวดล้อม ภูมิศาสตร์ โบราณสถาน และนิทานที่เล่าสืบๆมาเป็นหลัก 

 

 

นิราศบ้านโฮ่ง

 

จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกงานฌาปนกิจศพ แม่เรือนคำ วรรณสัย (7 สิงหาคม พ.ศ. 2552)

 

 

บทกวีนิพนธ์ที่แสดงถึงความรักและอาลัย เมื่อต้องจากบ้านและครอบครัวไปรับตำแหน่งผู้ช่วยศึกษาธิการอำเภอบ้านโฮ่ง เมื่อ พ.ศ. 2497 อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ได้ถ่ายทอดอารมณ์ และความรู้สึกของตนเป็นบทกลอน นอกจากจะมีความงามด้านภาษาแล้ว ยังมีคุณค่าในด้านการพรรณนาสถานการณ์และสภาพสังคมของชาวลำพูนในยุคสมัยนั้น

 

ความรักของอาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ที่มีต่อแม่เรือนคำ ผู้เป็นภรรยาคู่ชีวิต ยังปรากฏในนิราศเรื่องอื่นๆ อีก เช่น  นิราศเมืองลี้ (แต่งด้วยโคลงสี่สุภาพ) และนิราศวังมุย (บทกลอน) นิราศเดือนเมืองเหนือ (กลอนแปด) นิราศเหมืองง่า (คร่าว และโคลงสี่สุภาพ) นิราศรัก (กลอนแปด) และ นิราศเชียงราย (คร่าว)

 

 

อะลองพระเจ้าดินเหนียว

 

เชียงใหม่: ธาราทองการเพิมพ์ เชียงใหม่, 2506

 

 

คัมภีร์ใบลานฉบับพิมพ์ อักษรไทย สำนวนภาษาล้านนา จำนวน 6 ผูก พิมพ์ที่โรงพิมพ์เลี่ยงเซียงจงเจริญ พระนคร เมื่อ พ.ศ. 2506 การนำคัมภีร์ธรรมเทศนาหรือชาดกล้านนามาพิมพ์ลงใบลานด้วยอักษรไทยของอาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงกระบวนการสร้างคัมภีร์ธรรม เพราะเดิมจะจารด้วยมือซึ่งยุ่งยากและใช้เวลานานมาเป็นการพิมพ์อักษรลงบนแผ่นใบลานที่ง่ายและสะดวกรวดเร็ว โดยยุคนั้นต้องสั่งพิมพ์ที่กรุงเทพฯ แล้วนำมาเผยแพร่และจำหน่ายในเขตภาคเหนือ 

สิงฆะ วรรณสัย ได้เรียบเรียงคัมภีร์ธรรมเทศนาที่เป็นชาดกเรื่องอะลองพระเจ้าดินเหนียว ซึ่งเป็นเรื่องราวของพระโพธสัตว์ที่เสวยพระชาติเป็นชายหนุ่มยากจน ที่ได้ชักชวนภรรยาและแม่บุญธรรมปั้นพระพุทธรูปด้วยดินเหนียว โดยมีพระอินทร์และชายามาช่วย ซึ่งอานิสงส์ของการสร้างพระพุทธรูปดินเหนียวครั้งนั้นทำให้ได้ปกครองเมือง เสวยสุขสมบัติในชั้นฟ้า และได้กลับมาลงอุบัติเป็นพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน
 

 

จามเทวีวงศ์

 

เชียงใหม่: ธาราทองการพิมพ์ เชียงใหม่, มปป.

 

 

“จามเทวีวงศ์” เป็นคัมภีร์ธรรมเทศนาฉบับพิมพ์ลงบนกระดาษ (ลานเทียม) อักษรไทย ภาษาล้านนา เรียบเรียงเป็นสำนวนเทศนาแบบร้อยแก้วปนร่าย จำนวนทั้งสิ้น 15 ผูก พิมพ์ที่โรงพิมพ์ธาราทองการพิมพ์ เชียงใหม่ เป็นการนำคัมภีร์ธรรมเทศนาที่เคยจารลงในใบลานด้วยอักษรธรรมล้านนา มาปริวรรตแบบเทียบเสียงและพิมพ์ด้วยอักษรไทย เพื่อให้พระภิกษุสามเณร ได้ใช้เทศนาได้ง่ายและสะดวก ราคาผูกละ 6.50 บาท

 

จามเทวีวงศ์ กล่าวถึงตำนานเมืองลำพูนและพระธาตุเจ้าหริภุญชัย คือเริ่มตั้งพุทธประวัติ พระพุทธเจ้าเสด็จมายังบริเวณเมืองหริภุญชัย ทรงประทานพระเกศา และพระบรมสารีริกธาตุ การสร้างเมืองหริภุญชัย เรื่องราวต่างๆ ในยุคสมัยของพระนางจามเทวี มาจนถึงรัชสมัยของพระญาอาทิตยราชที่พบและสร้างพระเจดีย์หริภุญชัย

 

จักรพรรดิยาจก

 

เชียงใหม่: ธาราทองการเพิมพ์ เชียงใหม่, 2507

 

 

คัมภีร์ใบลานฉบับพิมพ์ อักษรไทย ภาษาล้านนา จำนวน 8 ผูก พิมพ์ที่โรงพิมพ์เลี่ยงเซียงจงเจริญ พระนคร เมื่อ พ.ศ. 2507

 

“จักพรรดิยาจก” หรือ “สิโสรชาดก” อยู่ในชุดปัญญาสชาดกล้านนา อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ได้เรียบเรียงและขัดเกลาสำนวนใหม่ เพื่อให้สะดวกต่อการนำมาเทศนา กล่าวถึงพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระญาสิโรราช  เมืองนันทนคร ซึ่งภายหลังต้องพลัดพรากจากบ้านเมือง ต้องตกระกำลำบากกลายเป็นยากจก แต่ภายหลังได้กลับมาครองเมืองตามเดิม
 

 

วนาวนชาดก 

 

2520 

 

 

วนาวนชาดก เป็นนิทานเรื่องหนึ่งในชุดปัญญาสชาดกที่แต่งโดยนักปราชญ์ชาวล้านนา อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ได้นำมาเรียบเรียงใหม่เป็นสำนวนเทศนา จำนวนทั้งสิ้น 13 ผูก ด้านหนึ่งเขียนอักษรล้านนาด้วยลายมือ และอีกด้านหนึ่งพิมพ์อักษรไทยด้วยเครื่องพิมพ์ดีดลงกระดาษไข แล้วโรเนียวลงบนกระดาษสีน้ำตาลอ่อน พับซ้อนกันให้มีลักษณะคล้ายคัมภีร์ใบลาน เรียกว่าธรรมกระดาษ หรือลานเทียม จัดทำเผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2520 ราคาผูกละ 10 บาท

วนาวนชาดก กล่าวถึงพระโพธิสัตว์ที่เสวยพระชาติเป็นวนาวนกุมาร โอรสของเจ้าเมืองโกฏินครกับอัครมเหสี เมื่อประสูติออกมาแล้วถูกมเหสีรองออกอุบายนำไปฝังไว้ที่โคนไม้จันทร์แล้วนำไม้จันทร์ห่อผ้าไว้แทน อัครมเหสีจึงถูกปลดให้เป็นคนรับใช้ วนาวนกุมารได้รับการดูแลและชุบเลี้ยงจนเติบใหญ่ ภายหลังได้ไปอาศัยอยู่ที่เมืองกาสี ถูกปุโรหิตถูกลอบทำร้ายแต่รอดชีวิตมาได้ ต่อมาเมื่อตามมาพระมารดาของตนพบและทราบเรื่องราวต่างๆ จึงยกทัพไปชิงเมืองโกฏินครคืน แล้วให้พระราชบิดาครองเมืองต่อ ส่วนตนกลับไปครองเมืองกาสี และดูแลบ้านเมืองให้สงบสุขร่วมเย็น พร้อมทั้งทำบุญให้ทานจนสิ้นอายุขัย
 

 

มหาชนสันธชาดก 

 

มปป.

 

 

มหาชนสันธชาดก เป็นนิทานเรื่องหนึ่งในชุดทวาทสนิบาต (นิบาตชาดกในพระไตรปิฎก) อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ได้นำมาเรียบเรียงใหม่เป็นสำนวนเทศนา จำนวน 13 ผูก ด้านหนึ่งเขียนอักษรล้านนาด้วยลายมือ และอีกด้านหนึ่งพิมพ์อักษรไทยด้วยเครื่องพิมพ์ดีดลงกระดาษไข แล้วโรเนียวลงบนแผนกระดาษสีน้ำตาลอ่อน พับซ้อนกันให้มีลักษณะคล้ายคัมภีร์ใบลาน เรียกว่าธรรมกระดาษ หรือลานเทียม ราคาผูกละ 10 บาท

 

มหาชนสันธชาดก ว่าด้วยเรื่องเหตุที่ทำให้จิตเดือดร้อน กล่าวถึงพระโพธิสัตว์ที่เสวยพระชาติเป็นมหาชนสันธกุมาร โอรสของพระเจ้าพรหมทัต แห่งเมืองพาราณสี ขณะที่ประสูตินั้นพระบิดาได้สั่งให้ปล่อยนักโทษทั้งหลายออกจากคุก แล้วตั้งราชโอรสให้เป็นอุปราช เมื่อพระเจ้าพรหมทัตสวรรคตแล้วมหาชนสันธกุมารได้ครองเมืองแทน โดยทรงพระราชทานทรัพย์สินเงินทองให้เป็นทานแก่ชาวเมืองทั้งหลายเป็นประจำ พร้อมทั้งแสดงธรรมให้ชาวเมืองตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ให้ทาน รักษาศีลและบำเพ็ญภาวนา ให้แต่ละคนรู้จักและปฏิบัติตนให้เหมาะกับหน้าที่หรือฐานะของตน ทำให้บ้านเมืองสงบสุขร่วมเย็น มหาชนสันธราชาครองเมืองและทำบุญให้ทานอยู่เสมอจนสิ้นอายุขัย